ผู้เขียน หัวข้อ: หมอประจำบ้าน: พิษคางคก (Toad poisoning/Bufotoxins poisoning)  (อ่าน 21 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 3 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ siritidaphon

  • ไมล์ 50-100
  • *
  • กระทู้: 71
  • คะแนน Like 0
  • จังหวัด: กรุงเทพ
  • ชื่อเล่น: aa
หมอประจำบ้าน: พิษคางคก (Toad poisoning/Bufotoxins poisoning)

ต่อมเมือกใกล้หู (parotid gland) ของคางคกจะขับเมือก (เรียกว่า ยางคางคก) ที่มีสารพิษ (bufotoxins/toad toxins) ซึ่งประกอบด้วยสารเคมีหลายชนิดที่มีผลต่อระบบต่าง ๆ ของร่างกาย ที่สำคัญ คือ กลุ่มดิจิทาลอยด์ ซึ่งออกฤทธิ์คล้ายดิจิทาลิส ทำให้เกิดพิษร้ายแรงต่อหัวใจถึงเสียชีวิตได้

นอกจากนี้ ยังมีสารสำคัญอื่น ๆ เช่น กลุ่มคาเทโคลามีน (catecholamines) ที่มีผลต่อหัวใจและหลอดเลือด และกลุ่มอินโดลไคลามีน (indolekylamines) ซึ่งมีฤทธิ์ทำให้มีอาการประสาทหลอน

พิษมีอยู่ในหนัง เลือด ไข่ และเครื่องในของคางคกแทบทุกชนิดที่มีในบ้านเรา พิษมีความทนต่อความร้อน การบริโภคคางคกที่ทำให้สุกแล้วก็เกิดพิษได้

เด็กจะทนต่อพิษคางคกได้มากกว่าผู้ใหญ่

ในบ้านเรามีรายงานผู้ที่ป่วยและตายจากการบริโภคคางคกเป็นครั้งคราว

สาเหตุ
เกิดจากการบริโภคคางคกพิษโดยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์


อาการ

ผู้ป่วยจะมีอาการแสดงคล้ายได้รับพิษดิจิทาลิสเกินขนาด อาการจะเกิดขึ้นช้า ๆ หลังจากกินคางคกหลายชั่วโมง แรกเริ่มจะมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน บางรายอาจมีอาการปวดท้อง ท้องเดินร่วมด้วย

ต่อมาจะอาการอ่อนเพลีย เวียนศีรษะ เห็นภาพเป็นสีเหลือง มีอาการเปลี่ยนแปลงของระดับสติ เริ่มจากอาการสับสน เพ้อ ง่วงซึม มีอาการประสาทหลอน หรืออาการทางจิต จนในที่สุดมีอาการชัก หมดสติ

ที่ร้ายแรง คือ หัวใจเต้นช้าและเต้นผิดจังหวะ ในที่สุดเกิดภาวะหัวใจห้องล่างเต้นระรัว (ventricular fibrillation) และเสียชีวิตในเวลารวดเร็วจากภาวะหัวใจวายหรือการไหลเวียนล้มเหลว


ภาวะแทรกซ้อน

ที่สำคัญ คือ ภาวะหัวใจห้องล่างเต้นระรัว (ventricular fibrillation) ซึ่งเป็นสาเหตุการตายของโรคนี้

นอกจากนี้มักมีภาวะโพแทสเซียมในเลือดสูง


การวินิจฉัย

แพทย์จะวินิจฉัยจากอาการและสิ่งตรวจพบ ดังนี้

มักตรวจพบชีพจรเต้นช้ากว่า 40 ครั้ง/นาที

ในระยะรุนแรง จะพบอาการชัก หมดสติ คลำชีพจรไม่ได้


การรักษาโดยแพทย์

แพทย์จะวินิจฉัยโรคนี้จากลักษณะอาการและประวัติการกินคางคกเป็นสำคัญ ในบางแห่งอาจทำการตรวจหาสารดิจิทาลิสในเลือด และมักจะทำการติดตามประเมินอาการด้วยการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ และตรวจหาระดับโพแทสเซียมเป็นระยะ ๆ

การรักษา ให้การรักษาขั้นพื้นฐาน (อ่านเพิ่มเติมที่ "การรักษาขั้นพื้นฐาน (ที่สถานพยาบาล) สำหรับผู้ป่วยที่กินสัตว์หรือพืชพิษ" ด้านล่าง) ถ้าพบว่าคลำชีพจรไม่ได้หรือหยุดหายใจให้ทำการกู้ชีพ

นอกจากนี้จะให้การรักษาแบบประคับประคอง เช่น ในรายที่ชีพจรเต้นช้าให้อะโทรพีน ถ้าไม่ได้ผล อาจต้องใช้เครื่องกระตุ้นหัวใจ (pacemaker)

ในรายที่ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะให้ยาแก้ไข เช่น ลิโดเคน (lidocaine) เฟนิโทอิน ควินิดีน อะมิโอดาโรน (amiodarone) เป็นต้น

ในรายที่มีระดับโพแทสเซียมในเลือดสูง ให้การรักษาด้วยการฉีดโซเดียมไบคาร์บอเนต กลูโคส และอินซูลิน

ถ้ามี digitalis FAB antibody ควรรีบให้ยานี้ทันที ซึ่งจะช่วยให้พิษหมดเร็ว และรอดชีวิตได้


การรักษาขั้นพื้นฐาน (ที่สถานพยาบาล) สำหรับผู้ป่วยที่กินสัตว์หรือพืชพิษ

1. ถ้าผู้ป่วยกินสัตว์หรือพืชพิษมาไม่เกิน 1 ชั่วโมง และยังไม่อาเจียน รีบทำให้ผู้ป่วยอาเจียนด้วยการให้ไอพีเเคกน้ำเชื่อมหรือใช้นิ้วล้วงคอ

2. ให้ผู้ป่วยกินผงถ่านกัมมันต์ (activated charcoal) ขนาด 1 กรัม/กก. โดยผสมน้ำ 1 แก้ว โดยให้ผู้ป่วยดื่มเอง ถ้าอาเจียนหรือดื่มเองไม่ได้ ให้ป้อนผ่านท่อสวนกระเพาะ (stomach tube) ถ้าผู้ป่วยหมดสติ ควรใส่ท่อช่วยหายใจก่อนเพื่อป้องกันการสำลัก

ควรให้เร็วที่สุดเมื่อพบผู้ป่วย (วิธีนี้จะได้ผลมากที่สุดเมื่อให้กินภายใน 30 นาทีหลังกินสัตว์หรือพืชพิษ) ไม่ควรให้ก่อนหรือหลังให้ยาที่ทำให้อาเจียน

ในรายที่รับพิษร้ายเเรง เช่น ปลาปักเป้า แมงดาถ้วย เห็ดพิษร้ายแรง หรือสงสัยรับพิษปริมาณมาก ควรให้ซ้ำทุก 4 ชั่วโมง

3. ทำการล้างกระเพาะอาหารด้วยน้ำเกลือนอร์มัลหรือน้ำ

วิธีนี้จะได้ผลดี เมื่อผู้ป่วยกินสารพิษมาไม่เกิน 1 ชั่วโมง และไม่มีอาการอาเจียน ถ้าทำหลังกินสารพิษมากกว่า 4 ชั่วโมง อาจไม่ได้ประโยชน์และไม่คุ้มกับผลข้างเคียง (ที่สำคัญคือ การสำลักเข้าปอดทำให้ปอดอักเสบ)

ควรกระทำโดยบุคลากรที่ชำนาญ และในที่ที่มีความพร้อม

ไม่จำเป็นต้องทำ ถ้าผู้ป่วยมีอาการอาเจียนมาก และห้ามทำในผู้ป่วยชัก ไม่ค่อยรู้ตัว หมดสติ

อาจให้ผงถ่านกัมมันต์กินก่อนล้างกระเพาะ หรือผสมผงถ่านกัมมันต์ในน้ำล้างกระเพาะก็ได้

4. ให้ผู้ป่วยดื่มโซเดียมไบคาร์บอเนต ขนาด 2-5% จำนวน 50 มล.

5. ให้กินยาระบาย ซอร์บิทอล (sorbitol) ขนาด 70% อาจกินเดี่ยว ๆ หรือผสมกับผงถ่านกัมมันต์แทนน้ำก็ได้ ถ้าไม่มีอาจให้ยาระบายอื่น ๆ เช่น ยาระบายแมกนีเซีย (Milk of Magnesia) แทน ให้ได้ไม่เกิน 2 ครั้ง

ห้ามทำ ในรายที่มีอาการถ่ายท้องมากอยู่แล้ว หรือมีภาวะขาดน้ำที่ยังไม่ได้รับการทดแทน

6. ให้น้ำเกลือทางหลอดเลือดดำ

7. ถ้าชักฉีดไดอะซีเเพม 5-10 มก.เข้าหลอดเลือดดำ

8. ถ้าหยุดหายใจหรือหายใจไม่ได้ ให้ทำการช่วยเหลือด้วยการเป่าปาก หรือใช้เครื่องช่วยหายใจ

9. ถ้าหมดสติ ให้การรักษาแบบหมดสติ


การดูแลตนเอง

หากสงสัยว่าผู้ป่วยเกิดอาการพิษคางคก ควรทำการปฐมพยาบาลแล้วรีบพาผู้ป่วยไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลทันที

การปฐมพยาบาล สำหรับผู้ป่วยที่กินสารพิษ สัตว์พิษ หรือพืชพิษ

1. รีบทำให้ผู้ป่วยอาเจียน เพื่อขับพิษออก

    ถ้ามียากระตุ้นอาเจียน ได้แก่ ไอพีแคกน้ำเชื่อม (syrup ipecac) ให้กินครั้งละ 15-30 มล. (เด็กโต 15 มล.) และดื่มน้ำตามไป 1 แก้ว ถ้ายังไม่อาเจียนใน 20 นาที กินซ้ำได้อีก 1 ครั้ง
    ถ้าไม่มียา ให้ผู้ป่วยดื่มน้ำ 1 แก้ว แล้วใช้นิ้วล้วงเข้าไปเขี่ยที่ผนังลำคอกระตุ้นให้อาเจียน ถ้าไม่ได้ผลทำซ้ำอีกครั้ง

ควรเก็บเศษอาหารที่อาเจียน ไว้ส่งตรวจวิเคราะห์

วิธีนี้จะได้ผลดี ต้องรีบทำภายใน 1 ชั่วโมงหลังกินสารพิษ และไม่ต้องทำหากผู้ป่วยมีอาการอาเจียนเองอยู่แล้ว

ห้ามทำ ในผู้ป่วยที่ชัก ไม่ค่อยรู้ตัวหรือหมดสติ หรือกินกรด ด่าง น้ำมันก๊าด ทินเนอร์ หรือสารพิษไม่ทราบชนิด

2. ถ้ามีผงถ่านกัมมันต์ (activated charcoal) ให้กินขนาด 1 กรัม/กก. โดยผสมน้ำ 1/2-1 แก้ว เพื่อลดการดูดซึมสารพิษเข้าร่างกาย (ไม่ต้องทำถ้าผู้ป่วยกินกรด ด่าง น้ำมันก๊าด ทินเนอร์)

ถ้าไม่มีผงถ่านกัมมันต์ ให้กินไข่ดิบ 5-10 ฟอง หรือดื่มนมหรือน้ำ 4-5 แก้ว

3. สำหรับผู้ป่วยที่กินพาราควอต ให้กินสารละลายดินเหนียว (Fuller’s earth) โดยผสมผงดินเหนียว 150 กรัม หรือ 2 1/2 กระป๋อง ในน้ำ 1 ลิตร ถ้าไม่มีให้ดื่มน้ำโคลนดินเหนียวจากท้องร่องในสวน (ที่ไม่มีตะปูหรือเศษแก้ว หรือสารพิษตกค้าง) ซึ่งจะลดพิษของยานี้ได้

4. สำหรับผู้ที่กินปลาปักเป้า แมงดาถ้วย ปลาทะเลพิษ หอยทะเลพิษ เห็ดพิษ ให้ดื่มโซเดียมไบคาร์บอเนตขนาด 2-5% จำนวน 50 มล. (อาจเตรียมโดยผสมผงฟู 1-2.5 กรัม ในน้ำ 50 มล.) ซึ่งจะช่วยลดพิษของอาหารพิษได้

ห้ามทำ ข้อ 2-4 ถ้าผู้ป่วยชัก ไม่ค่อยรู้ตัวหรือหมดสติ

5. ถ้าผู้ป่วยมีภาวะขาดน้ำ ให้ดื่มสารละลายน้ำตาลเกลือแร่ หรือให้น้ำเกลือทางหลอดเลือดดำ

6. ถ้าผู้ป่วยชักหรือหมดสติ ให้ทำการปฐมพยาบาลเช่นเดียวกับผู้ป่วยชัก (อ่านใน "โรคลมชัก" เพิ่มเติม) หรือหมดสติ (อ่านใน "อาการหมดสติ" เพิ่มเติม)

7. รีบพาผู้ป่วยไปโรงพยาบาล ควรนำสารพิษที่ผู้ป่วยกินหรืออาเจียนออกมาไปให้แพทย์ตรวจวิเคราะห์ด้วย

การป้องกัน

1. หลีกเลี่ยงการกินคางคกทุกชนิด ไม่ว่าจะปรุงหรือเตรียมให้สุกด้วยวิธีใด ๆ ก็ตาม

2. หลีกเลี่ยงการกินยาจีนหรือยาแผนโบราณที่มีส่วนประกอบของคางคกผสม

ข้อแนะนำ

การรับพิษคางคกส่วนใหญ่เกิดจากการกินคางคกด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ แต่มีรายงานว่าในสหรัฐอเมริกามีผู้ที่ป่วยด้วยพิษคางคกจากการกินยาจีนที่ทำจากหนังคางคก (เชื่อว่าเป็นยาบำรุงทางเพศ)* ดังนั้นจึงควรมีความระมัดระวังในการใช้ยาแผนโบราณเป็นอย่างยิ่ง