หากเป็นเมื่อก่อนปัญหาเรื่องสนิมจะเป็นที่หวาดกลัวของผู้เป็นเจ้าของรถมาก ทำให้บริษัทรับพ่นกันสนิมเจริญรุ่งเรืองใหญ่โตต่างกับตอนนี้ที่ดูเหมือนเจ้า ของรถจะลืมเลือนเรื่องสนิมไปแล้ว จะมีบางส่วนเท่านั้นที่เคยผจญกับสนิมมานักต่อนัก เลยยังมีการถามหาเรื่องพ่นกันสนิมอยู่บ้าง
สาเหตุที่รถยุคหลังห่าง ไกลจากการถามหาของสนิม เป็นเพราะมีขบวนการป้องกันสนิมที่ดี สามารถรักษาให้รถปลอดสนิมได้เป็นเวลานาน โดยบ้านเราเริ่มมีการป้องกันสนิมเมื่อประมาณปี 1982 แต่บริษัทรถบางบริษัทยังใช้งานขบวนการพ่นกันสนิมจากบริษัทรับพ่นป้องกันสนิม อยู่เลย เพิ่งจะมาจริงจังเอาเมื่อประมาณปี 1996 นี่เอง โดยทั่วไปรถยุคนี้ถ้าไม่เอารถไปชนนุ่นชนนี่ หรือมีรอยขีดข่วนที่ลึกถึงเนื้อเหล็กซะก่อน ก็มักไม่มีปัญหาเรื่องถูกสนิมถามหา คราวนี้ลองมาดูกันว่าส่วนใหญ่ทางบริษัทรถเค้ามีขบวนการป้องกันสนิมกันอย่าง ไร และหลังจากที่เราซื้อรถใหม่ป้ายแดงมาแล้ว เราจำเป็นต้องพ่นกันสนิมอีกหรือเปล่า...??!!
สนิมถามหา
เจ้าสนิมที่เกิดขึ้นมานั้น มันเป็นเรื่องของปฏิกิริยาทางไฟฟ้าเคมี ซึ่งเกิดขึ้นจากการรวมตัวของออกซิเจนกับเหล็ก โดยมีตัวแสบคือ เจ้าความชื้นเป็นหัวหน้าชักนำ เริ่มขึ้นเมื่อหยดน้ำสัมผัสกับเนื้อเหล็ก ในตอนแรกหยดน้ำยังใสอยู่ชั่วขณะหนึ่ง แต่ไม่ช้าไม่นานเท่าไหร่นักออกซิเจนที่ปะปนอยู่ในน้ำกับเหล็กจะเริ่มรวมตัว กัน ก่อให้เกิดเป็นอ๊อกไซด์ของเหล็ก หรือเจ้าสนิมขึ้นมา
คราวนี้หยดน้ำจะเปลี่ยนเป็นสีแดง พอหยดน้ำมีการระเหยหายไปกับอากาศ จะหลงเหลือเป็นคราบสีแดงติดค้างอยู่บนผิวเหล็กต่อจากนั้นเจ้าสนิมจะขยายตัว ลามต่อไปเรื่อย ๆ แม้ตอนนั้นจะไม่มีความชื้นเข้ามายุ่งเกี่ยวแล้วก็ตาม สาเหตุก็เพราะเจ้าสนิมนั้นสามารถช่วยให้ความชื้นที่มีอยู่ในอากาศรวมตัวเข้า กันได้ ไม่ว่าจะมีมากหรือน้อยสักแค่ไหน เจ้าสนิมมันจะดูดเอาความชื้นมาเก็บสะสมไว้
ด้วยเหตุนี้จึงจำเป็น ต้องป้องกันสนิมกันตั้งแต่แรก ถ้าปล่อยให้เกิดสนิมขึ้นมาแล้ว มันจะลุกลามเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ การป้องกันสนิมนั้นยังไม่ใช่ของลำบาก โดยใช้วิธีป้องกันอย่าให้เหล็กเจอกับน้ำหรือออกซิเจนเท่านั้น จากการหาอะไรมาเคลือบทับผิวเหล็กเอาไว้ แต่ถ้าเกิดสนิมถามหาขึ้นเมื่อไหร่ คราวนี้จะหยุดยั้งหรือป้องกันการลุกลามนั้นเป็นเรื่องยากแล้ว
ขบวนการป้องกันสนิม
ทั้งคนทำรถขายและคนซื้อรถมาใช้มีจุดมุ่งหมายเดียวกันคือ ไม่อยากให้รถถูกสนิมกัดกิน ทางบริษัทรถจึงสรรหาวิธีและขบวนการต่าง ๆ มาช่วยปกป้องตัวรถให้ห่างไกลจากสนิม หรือมีความสามารถในการต่อด้านสนิมได้นานที่สุด เรื่องการป้องกันสนิมถามหา ทางบริษัทผู้ผลิตรถลงทุน และลงแรงไปไม่น้อย เพื่อให้มีผลในการปกป้องสนิมสูงที่สุด ซึ่งมีวิธีการ และขั้นตอนหลายอย่าง เรื่องของรายละเอียดและเทคโนโลยีก็แตกต่างกันไปในแต่ละบริษัท สำหรับส่วนใหญ่แล้วโดยทั่วไปมักจะมีขั้นตอนดังนี้
ขบวนการกำจัดสิ่งสกปรก น้ำมัน และการเคลือบสารเคมี
อันดับแรกขงการป้องกันสนิมโครงสร้างตัวรถ จะต้องผ่านขบวนการกำจัดสิ่งสกปรกและน้ำมัน จากชิ้นส่วนของตัวรถ ที่มีการเคลือบสารกันสนิมมาก่อนการประกอบ ไม่ว่าจะเป็นภายนอกหรือภายใน วิธีการนั้นเค้าจะจับเอาโครงสร้างรถจุ่มลงไปในบ่อน้ำยาเคมี ซึ่งจะมีอุณหภูมิประมาณ 35-60 องศาเซลเซียส เพื่อชำระล้างสิ่งสกปรกและคราบน้ำมันต่าง ๆ ออกให้หมด เพื่อให้ผิวงานมีความสะอาด มิฉะนั้นอาจสร้างปัญหาในการพ่นสีภายหลัง เช่น ทำให้สีไม่ติดผิวงานเกิดการหลุดล่อนในภายหลังได้
หลังจากชำระคราบไคล สิ่งสกปรกเรียบร้อยแล้ว ก็นำไปทำความสะอาดอีกครั้งด้วยน้ำบริสุทธิ์ (DI-Water) เพื่อเป็นการล้างน้ำยาเคมีที่ติดผิวงานมา ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นการฉีดพ่นโดยอาศัยแรงดันของน้ำช่วยขจัดสิ่งไม่พึงประสงค์ ออกไป
สำหรับบางบริษัทที่ต้องการให้ตัวถังมีความทนทานต่อการกัดกร่อน และป้องกันการเกิดสนิมได้ดีเป็นพิเศษ มักใช้ชิ้นส่วนที่ผ่านการชุบกัลวาไนซ์ (Electrolytically Galvanised)
การชุบฟอสเฟต
ลำดับต่อไปเป็นการส่งไปชุบสารฟอสเฟต โดยเจ้าสารฟอสเฟตจะจับตัวเป็นผลึกเคลือบบนผิวเหล็กอย่างแน่นหนา เจ้าผิวผลึกฟอสเฟตเหล่านี้จะเป็นตัวช่วยให้เนื้อสีเกาะตัวดียิ่งขึ้น และช่วยปกป้องการเกิดอ๊อกไซด์ของเหล็กหรือเกิดสนิมบนผิวเหล็ก แล้วก็ต้องส่งไปอบด้วยความร้อนอีก เพื่อกำจัดความชื้นไม่ให้หลงเหลือตกค้างอยู่ตามผิวงาน หรือซอกมุมต่าง ๆ
การชุบเคลือบด้วยกระแสไฟฟ้า
เมื่อโครงสร้างตัวถังถูกชุบฟอสเฟตและไล่ความชื้นออกไปหมดแล้ว จะถูกส่งไปยังขบวนการชุบเคลือบผิวตัวถังด้วยสี โดยการจุ่มตัวถังลงในบ่อสีโดยใช้กระแสไฟฟ้าเป็นตัวชักนำ จุดประสงค์เพื่อให้สีเข้าไปยืดเกาะได้อย่างทั่วถึง ไม่ว่าจะเป็นซอกเล็กมุมน้อยใด ๆ ก็ตาม อันเป็นการป้องกันการเกิดสนิมในมุมอับต่าง ๆ ซึ่งการพ่นหรือแม้แต่การจุ่มสีแบบธรรมดา สีอาจจะเข้าไปได้ไม่ทั่วถึง จึงต้องอาศัยไฟฟ้าเป็นตัวชักนำแทน นอกจากนี้ยังทำให้ชั้นสีที่เคลือบทับมีความหนาสม่ำเสมอ พอเสร็จจากขบวนการจุ่มสีก็ต้องนำมาอบสีให้แห้ง ด้วยอุณหภูมิประมาณ 150 องศาเซลเซียส สักครึ่งชั่วโมง เมื่อแห้งดีแล้วก็จะมีสีเคลือบอยู่บนโครงสร้างรถหนาประมาณ 40 ไมครอน อันเป็นมาตรฐานที่นิยมใช้กันทั่วไป
การพ่นสีรองพื้น
ต่อจากนั้นก็เข้าสู่ขบวนการพ่นสีรองพื้น ซึ่งจะเป็นการเตรียมผิวงานให้เรียบร้อยก่อนมีการลงมือพ่นสีจริง และเจ้าสีรองพื้นนี้ยังมีส่วนช่วยให้ประสิทธิภาพในการป้องกันสนิมมีมากขึ้น พอพ่นสีรองพื้นเสร็จเรียบร้อย ก็เข้าสู่ขบวนการทำสีให้แห้งด้วยจากอบด้วยความร้อน เพราะหากขืนรอให้สีแห้งเองคงไม่ทันกิน ดีไม่ดีเกิดมีฝุ่นละอองปลิวมาติดผิวสีอีกมันจะยุ่ง สำหรับการอบสีรองพื้นนั้นมักจะใช้อุณหภูมิประมาณ 150 องศาเซลเซียส และใช้เวลาราว ๆ ครึ่งชั่วโมง เช่นเดียวกันกับการอบสีหลังจากการชุบเคลือบสี
การพ่นใต้ท้องรถด้วยสาร PVC
พอสีรองพื้นแห้งดีแล้วจะถูกส่งไปพ่นพวกสาร PVC บริเวณพื้นด้านล่างตัวถังรถ แล้วนำไปอบให้แข็งตัว เพื่อเป็นการป้องกันการกัดกร่อน และเกิดการกะเทาะหลุดล่อน อันอาจเกิดจากการกระทบกระแทกจากเศษหิน หรือสิ่งอื่นที่กระเด็นขึ้นมากระทบใต้ท้องรถ อีกทั้งยังเป็นการช่วยลดเสียงดังจากใต้ท้องรถได้อีกส่วน
การพ่นสีจริง
การพ่นสีจริงทับลงไปบนสีรองพื้นที่เตรียมพร้อมไว้แล้ว นอกจากเพื่อให้สวยงามดูดีแล้ว ยังมีผลให้การยึดเกาะของสีจริงจับแน่นไม่หลุดง่าย และไม่จำเป็นต้องพ่นสีหนาจนเกินไป ส่วนใหญ่จะมีความหนาอยู่ระหว่าง 120-150 ไมครอน การพ่นนั้นจะพ่นทั่วทั้งคันไม่ว่าจะเป็นภายนอก ภายในตามจุดและซอกมุมต่าง ๆ สำหรับการพ่นสีจริงนี้จะแบ่งออกเป็น 2 ชั้นด้วยกัน คือ
สี Base Coat
สี Base Coat หรือตัวสีจริงจะได้รับการพ่นเป็นชั้นแรกคือ พ่นก่อนและอยู่ชั้นใน ซึ่งสีจริงนั้นมีด้วยกันหลายอย่างแล้วแต่ทางบริษัทรถจะเลือกใช้ เช่น สี Solid ที่เป็นสีพื้น ๆ หรือสีธรรมดาทั่วไป และสี Metallic ที่มีพวกผงโลหะผสมอยู่ ซึ่งบ้านเราเรียกนิยมเรียกกันว่า สีบรอนซ์ เพื่อให้เกิดความแวววาวเพิ่มขึ้น เมื่อโดนแสงแดดหรือแสงไฟในตอนกลางคืน
สี Clear Coat
พวกสี Clear Coat จะใช้พ่นหรือเคลือบทับลงบนสี Base Coat อีกชั้น ให้เป็นเสมือนเกราะป้องกันหรือคุ้มครอง สี Base Coat เพราะเนื้อของสี Base Coat นั้น มีความอ่อนนุ่มเกินไป ไม่สามารถทนทานต่อการขูดขีด ทำให้เป็นรอยง่าย เกิดการซีดจางได้เร็ว รวมทั้งความเงางามก็มีน้อย ที่เราเห็นว่าสีรถมีความเงางาม มีความสดใสดูใหม่อยู่เสมอ และทนทานต่อรอยขูดขีดนั้น เป็นฝีมือของเจ้าสี Clear Coat นั่นเอง ดังนั้นจึงไม่ควรขัดสีกันบ่อยเกินไป เพราะถ้าสี Clear Coat หลุดลอกหมดไปเมื่อไหร่ก็เท่ากับหมดการคุ้มครอง ทำให้สีรถเป็นรอย สีด้าน และซีดจางได้อย่างรวดเร็ว
การพ่นแว็กซ์
ในรถบางยี่ห้อนั่นอาจมีการพ่นแว็กซ์เพิ่มเติม เป็นประเภท Anti-Rust Wax ที่มีคุณสมบัติในด้านป้องกันสนิม ซึ่งมีด้วยกัน 2 ชนิด คือ
Inner Wax
มีลักษณะเป็นของเหลวข้น ซึ่งจะแข็งตัวได้ภายในเวลา 48 ชั่วโมง แต่ก็ไม่แข็งมากจนกลายเป็นของแข็งยังคงมีความนิ่มและยืดหยุ่นตัวได้บ้างเล็ก น้อย เค้าจะใช้แว็กซ์ประเภทนี้สำหรับการพ่นในมุมอับต่าง ๆ ของตัวถังรถ เช่น แถวฝา กระโปรงหน้า ฝากระโปรงหลัง ภายในบานประตู ช่องขอบแนวบันได
Heavy Wax
มีลักษณะเป็นของเหลวคล้ายน้ำมันสีดำจะแข็งตัวได้ภายใน 48 ชั่วโมง แว็กซ์ชนิดนี้เค้าใช้พ่นในส่วนของใต้ท้องรถ ตลอดจนชิ้นส่วนด้านล่าง เช่น พื้นใต้ท้องรถ บริเวณได้บังโคลน หรือุดช่วงล่างบางจุด เพื่อให้มันทำหน้าที่ป้องกันเศษหิน ทราย หรือของแข็งต่าง ๆ มากระทบ ซึ่งอาจทำให้เสียหายและมีสนิมเกิดขึ้น
จากขบวนการต่าง ๆ ในการป้องกันสนิมของทางบริษัทรถจัดว่าเพียงพอต่อการป้องกันสนิมแล้ว ไม่มีความจำเป็นต้องไปพ่นกันสนิมเพิ่มเติมอีก ยกเว้นจะเป็นการใช้งานในกรณีพิเศษ เช่นใช้รถอยู่แถวเมืองชายทะเล หรือต้องใช้รถบนทางลูกรัง และเส้นทางที่อุดมไปด้วยสะเก็ดหินเป็นประจำ หรือพวกรถที่ผ่านการปะผุทำสี และรถที่ต้องทำสีจากอุบัติเหตุ ก็อาจต้องมีรายการพ่นกันสนิมเพิ่มเติม ซึ่งมักจะเป็นพวก Anti-Rust Wax ไม่ว่าจะเป็น Inner Wax หรือ Heavy Wax ก็ตาม
แต่สิ่งที่ควรระวังคือการเจาะตัวถังเพื่อพ่นสนิม และเป็นการระบายไอของสารเคมีเมื่อจอดรถตากแดดแล้วถูกความร้อน สนิมอาจถามหาจากเจ้ารอยเจาะเหล่านี้เอง นอกจากนั้นต้องมีความรู้ในเรื่องของรถรุ่นนั้น ๆ ด้วย เพราะอาจมีเซ็นเซอร์ซุกไว้ตามซอกมุมหรือในบานประตู ถ้าใช้น้ำยากันสนิมพ่นทับ เซ็นเซอร์อาจไม่ทำงาน แล้วก่อให้รถเกิดการเสียหายได้