ผู้เขียน หัวข้อ: โยโย่เอฟเฟค อันตรายที่มาพร้อมการลดน้ำหนัก  (อ่าน 12 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ siritidaphon

  • ไมล์ 50-100
  • *
  • กระทู้: 86
  • คะแนน Like 0
  • จังหวัด: กรุงเทพ
  • ชื่อเล่น: aa
โยโย่เอฟเฟค อันตรายที่มาพร้อมการลดน้ำหนัก

ผู้ที่อยู่ในช่วงลดน้ำหนักหลายคนอาจเคยประสบกับภาวะโยโย่เอฟเฟค ซึ่งอาจพบว่ามีน้ำหนักตัวพุ่งขึ้นอย่างรวดเร็วหลังจากที่น้ำหนักลดลงไปได้ไม่นาน โดยกระบวนการนี้เรียกว่า Weight Cycling หรือวงจรน้ำหนัก

อย่างไรก็ตาม โยโย่เอฟเฟคเป็นคำที่ใช้เรียกผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการลดน้ำหนักด้วยการรับประทานอาหารแบบผิดวิธี ซึ่งไม่ใช่เพียงการเพิ่มและลดของน้ำหนักตัวเพียงอย่างเดียว แต่ผลกระทบที่เกิดขึ้นนั้นมักมาพร้อมกับความเสี่ยงและอันตรายต่อสุขภาพอย่างที่คุณอาจไม่เคยรู้มาก่อน


ปัญหาสุขภาพที่อาจมาพร้อมโยโย่เอฟเฟค

การเพิ่มขึ้นและลดลงของน้ำหนักที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งอาจส่งผลให้ร่างกายเสียสมดุล และทำให้เกิดความผิดปกติบางอย่างขึ้น ซึ่งอาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคและภาวะผิดปกติต่าง ๆ ดังนี้

ผิวหย่อนคล้อย ผู้ที่อยู่ในวงจรการเพิ่มขึ้นและลดลงของน้ำหนักตัวอาจมีสภาพผิวที่หย่อนคล้อย เนื่องจากผิวของคนเราเปรียบคล้ายกับยางยืด เมื่อน้ำหนักเพิ่มขึ้นผิวจะถูกยืดออกไปและอาจยืดจนหย่อนคล้อยในที่สุด การยืดของผิวหนังบ่อยครั้งอาจทำให้ผิวบริเวณต้นแขน ต้นขา หน้าท้อง หน้าอก และหลังหย่อนคล้อยได้ ซึ่งอาจไม่ใช่เรื่องที่ดีนักสำหรับผู้ที่อยู่ในวัยหนุ่มสาว อย่างไรก็ตาม ปัญหานี้อาจแก้ได้ด้วยการค่อย ๆ ลดน้ำหนักร่วมกับออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เพื่อช่วยสร้างความกระชับให้แก่ผิวหนัง

ไขมันเพิ่มขึ้น ในช่วงที่น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นจากโยโย่เอฟเฟคอาจทำให้ไขมันสะสมในร่างกายได้ง่าย โดยไขมันที่เพิ่มขึ้นอาจสูงกว่าปริมาณไขมันในช่วงก่อนลดน้ำหนักอีกด้วย นอกจากนี้ ไขมันอาจสะสมตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกายรวมทั้งอวัยวะภายใน ซึ่งอาจส่งผลให้การลดน้ำหนักครั้งต่อไปทำได้ยากขึ้นกว่าเดิม

สูญเสียกล้ามเนื้อ ในช่วงที่น้ำหนักตัวลดลงจากโยโย่เอฟเฟค ไม่เพียงแต่น้ำหนักและไขมันเท่านั้นที่ลดลงไป แต่ยังรวมถึงมวลกล้ามเนื้อที่ลดหายไปด้วย ซึ่งจะส่งผลให้มีพละกำลังลดลง โดยกล้ามเนื้อนั้นเป็นสิ่งที่ร่างกายสร้างและสะสมได้ยากกว่าไขมัน ดังนั้น ผู้ที่ต้องการเพิ่มหรือรักษามวลกล้ามเนื้อไว้ ควรรับประทานอาหารที่มีโปรตีนและสารอาหารอื่น ๆ ที่ช่วยในการสร้างและรักษากล้ามเนื้อให้เพียงพอในแต่ละวัน ควบคู่กับการออกกำลังกายอย่างเหมาะสมและสม่ำเสมอด้วย

อยากอาหารมากขึ้น ฮอร์โมนเลปตินมีหน้าที่กระตุ้นให้ร่างกายรู้สึกอิ่มหลังจากรับประทานอาหารในแต่ละมื้อ โดยฮอร์โมนนี้จะถูกส่งออกมาจากเนื้อเยื่อไขมัน เมื่อถึงช่วงน้ำหนักลงเนื่องจากโยโย่เอฟเฟค ไขมันจะลดลง รวมถึงปริมาณของฮอร์โมนเลปตินที่ถูกส่งออกมาก็ลดลงไปด้วย ซึ่งส่งผลให้ร่างกายรู้สึกอิ่มช้า ไม่อิ่ม รู้สึกหิว หรืออยากอาหารมากขึ้น ดังนั้น ผู้ที่ประสบปัญหาโยโย่เอฟเฟคควรระมัดระวังการรับประทานอาหารมื้อพิเศษหรือรับประทานอาหารในปริมาณที่มากขึ้นกว่าเดิม เพราะอาจทำให้น้ำหนักตัวพุ่งสูงขึ้นกว่าน้ำหนักตัวที่ลดไปได้

เสี่ยงเกิดโรคและภาวะผิดปกติต่าง ๆ น้ำหนักตัวที่เพิ่มขึ้นและลดลงจากโยโย่เอฟเฟค รวมทั้งไขมันสะสมที่เพิ่มขึ้นในช่วงที่น้ำหนักเพิ่มสูงขึ้น อาจทำให้เกิดโรคหรือความผิดปกติต่าง ๆ ได้ เช่น ความดันเลือดเพิ่มสูงขึ้น เสี่ยงเกิดโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ภาวะไขมันพอกตับ โรคหัวใจ ภาวะสูญเสียแร่ธาตุในกระดูกที่เพิ่มมากขึ้นในหญิงสูงวัย และโรคกินไม่หยุด (ฺBinge Eating Disorder) ที่อาจเกิดจากความเครียดหรือพฤติกรรมการรับประทานอาหารแบบเดิม ๆ เป็นต้น

ความรู้สึกเปลี่ยนไป การลดน้ำหนักนั้นต้องใช้ความอดทนและความพยายามเป็นอย่างมาก ซึ่งคนส่วนใหญ่มักรู้สึกภูมิใจเมื่อทำสำเร็จ แต่หากหลังจากนั้นกลับมีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นจากผลของโยโย่เอฟเฟค อาจทำให้คนที่เผชิญปัญหาดังกล่าวรู้สึกเครียด ผิดหวัง ล้มเหลว และอับอายที่ไม่สามารถรักษาระดับน้ำหนักเอาไว้ได้ จนอาจส่งผลให้เข้าสังคมน้อยลง ซึ่งหากมีภาวะซึมเศร้าด้วยก็อาจทำให้อาการทรุดลงได้ อย่างไรก็ตาม โยโย่เอฟเฟคไม่ได้ส่งผลโดยตรงจนทำให้เกิดภาวะซึมเศร้าหรือมีปัญหาในการควบคุมตนเองแต่อย่างใด

นอกจากการมีน้ำหนักตัวที่มากเกินไปจะส่งผลเสียต่อร่างกายตามที่คนส่วนใหญ่ทราบกันแล้ว น้ำหนักและไขมันที่เพิ่มขึ้นจนสะสมอยู่ในร่างกายปริมาณมากอาจทำให้ความเสี่ยงของการเกิดโรคต่าง ๆ เพิ่มสูงขึ้นด้วย และแม้ว่าช่วงที่น้ำหนักลดลงอาจทำให้ไขมันที่สะสมอยู่ลดลงตามไปด้วย ซึ่งจะช่วยฟื้นฟูร่างกายและลดความเสี่ยงต่าง ๆ แต่ในบางรายที่ปริมาณไขมันไม่ได้ลดลงตามน้ำหนักตัวก็อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพตามมาได้เช่นกัน ดังนั้น ผู้ที่กำลังประสบปัญหาโยโย่เอฟเฟคควรตระหนักถึงความเสี่ยงต่าง ๆ รวมถึงไปพบแพทย์หรือนักโภชนาการ เพื่อปรึกษาและหาทางรับมือปัญหานี้อย่างถูกต้องและปลอดภัย


วิธีหยุดวงจรโยโย่เอฟเฟค

ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโยโย่เอฟเฟคสามารถมีสุขภาพที่ดีขึ้นได้ด้วยการเปลี่ยนวิธีลดน้ำหนักจากการจำกัดปริมาณการรับประทานอาหารภายในช่วงสั้น ๆ เป็นการเลือกรับประทานอาหารอย่างถูกวิธี และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการรับประทานอาหารเพื่อให้มีน้ำหนักตัวที่เหมาะสมและมีสุขภาพที่ดีขึ้นในระยะยาว โดยทำได้ดังนี้

1.    งดหรือลดอาหารบางชนิด โดยเฉพาะอาหารที่มีไขมันสูง น้ำตาล โซเดียม หรืออาหารที่อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพทั้งในระยะสั้นและระยะยาว อย่างอาหารขยะ เช่น เฟรนช์ฟราย พิซซ่า น้ำอัดลม หรือเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลชนิดอื่น ๆ เป็นต้น

2.    บริโภคแป้งอย่างพอดี คาร์โบไฮเดรตมีส่วนช่วยในการสร้างพลังงานสำหรับการทำกิจกรรมต่าง ๆ ดังนั้น ผู้ที่ต้องการลดน้ำหนักควรรับประทานอาหารที่มีคาร์โบไฮเดรตในปริมาณที่เหมาะสมต่อความต้องการของร่างกาย ส่วนอาหารบางชนิดอย่างมันฝรั่ง ข้าวโพด ขนมปัง ทุเรียน รวมถึงผักและผลไม้บางชนิดก็อาจมีคาร์โบไฮเดรตสูง จึงควรบริโภคอย่างระมัดระวังในปริมาณที่พอเหมาะเสมอ 

3.    เลือกรับประทานอาหารอื่น ๆ ที่มีประโยชน์ เช่น ไข่ โยเกิร์ต ผัก ผลไม้ และพืชตระกูลถั่ว เป็นต้น รวมทั้งห้ามอดอาหารโดยเด็ดขาด เพราะการอดอาหารอาจทำให้รู้สึกหิวมากกว่าเดิมได้

4.    นอนหลับให้เพียงพอ การนอนหลับช่วยฟื้นฟูร่างกายที่ผ่านการใช้งานมาในแต่ละวัน ส่งผลให้ร่างกายสามารถเผาผลาญพลังงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ และยังทำให้ไม่รู้สึกหิวบ่อย ๆ เนื่องจากไม่มีการหลั่งฮอร์โมนที่กระตุ้นความอยากอาหาร ดังนั้น จึงควรนอนหลับอย่างน้อย 6-8 ชั่วโมงต่อวัน รวมถึงสร้างสภาพแวดล้อมต่าง ๆ ให้เหมาะสมกับการนอนหลับด้วย เช่น แสง เสียง หรืออุณหภูมิภายในห้อง เป็นต้น

5.    ออกกำลังกายอย่างเหมาะสม ควรเลือกเล่นกีฬาหรือออกกำลังกายในแบบที่เหมาะสมกับร่างกายของตนเอง เพื่อสร้างแรงจูงใจและช่วยให้รู้สึกสนุกกับการออกกำลังกายมากขึ้น ซึ่งปัจจุบันมีการออกกำลังกายหลากหลายรูปแบบให้เลือก เช่น ต่อยมวย เล่นโยคะฟลาย หรือปั่นจักรยานเข้าจังหวะ เป็นต้น

6.    ใช้สมาร์ตโฟนและดูโทรทัศน์แต่พอดี รวมทั้งแบ่งเวลาสำหรับการออกกำลังกายและทำกิจกรรมอื่น ๆ กับคนรอบข้างด้วย เพื่อให้ร่างกายได้เคลื่อนไหวและใช้พลังงานบ้าง

นอกจากคำแนะนำข้างต้น ผู้ที่ประสบปัญหาโยโย่เอฟเฟคควรปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตของตนเองให้ดีขึ้น เพื่อสุขภาพที่ดีในระยะยาว และอาจปรึกษาแพทย์หรือนักโภชนาการ เพื่อช่วยวางแผนการรับประทานอาหารให้เหมาะสมกับสุขภาพของตนเอง นอกจากนี้ ควรตรวจสอบอาหารแต่ละอย่างให้ละเอียดก่อนบริโภคทุกครั้งว่ามีสารโภชนาการต่าง ๆ ในปริมาณเท่าใด และมีส่วนผสมของอาหารที่ตนเองแพ้หรือไม่ เพื่อให้บริโภคอาหารในปริมาณที่เหมาะสมและปลอดภัย รวมทั้งป้องกันอาการแพ้อาหาร