ผู้เขียน หัวข้อ: Doctor At Home: คอพอก/ต่อมไทรอยด์โต (Goiter) คอพอกธรรมดา (Simple goiter/Nontoxic  (อ่าน 23 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ siritidaphon

  • ไมล์ 50-100
  • *
  • กระทู้: 86
  • คะแนน Like 0
  • จังหวัด: กรุงเทพ
  • ชื่อเล่น: aa
Doctor At Home: คอพอก/ต่อมไทรอยด์โต (Goiter) คอพอกธรรมดา (Simple goiter/Nontoxic goiter)

คอพอก (ต่อมไทรอยด์โต) หมายถึง ภาวะที่ต่อมไทรอยด์* ตรงบริเวณคอหอยเกิดบวมโตผิดปกติ ทำให้คอโป่งเป็นลูกออกมาให้เห็นชัดเจน และสามารถคลำได้เป็นก้อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเวลาผู้ป่วยทำท่ากลืนน้ำลายก้อนนี้จะขยับขึ้นลงตามจังหวะการกลืน

คอพอกอาจมีลักษณะบวมโตแบบกระจาย (diffuse) หรือเป็นปุ่ม (เป็นปุ่มเดียวหรือหลายปุ่มก็ได้) อาจมีการสร้างฮอร์โมนไทรอยด์เป็นปกติเรียกว่า คอพอกธรรมดา (simple goiter หรือ nontoxic goiter) สร้างไทรอยด์มากเกินเรียกว่า คอพอกเป็นพิษ หรือสร้างไทรอยด์น้อยเกินเรียกว่า ภาวะขาดไทรอยด์

ส่วนใหญ่จะเป็นชนิดไม่ร้าย (benign) คือไม่ใช่มะเร็ง มักพบว่ามีลักษณะบวมโตแบบกระจาย หรือเป็นปุ่มหลายปุ่ม (multinodule) เช่น คอพอกที่เกิดจากภาวะขาดไอโอดีน (คอพอกประจำถิ่น) คอพอกเป็นพิษที่มีชื่อว่า โรคเกรฟส์ ต่อมไทรอยด์อักเสบ เป็นต้น

คอพอกที่มีลักษณะเป็นปุ่มหรือก้อนเดี่ยว (solitary thyroid nodule) มักเป็นเนื้องอกชนิดไม่ร้าย เช่น เนื้องอกไทรอยด์ (benign adenoma) ถุงน้ำไทรอยด์ (thyroid cyst) แต่บางรายอาจเป็นมะเร็งไทรอยด์ ซึ่งอาจจำเป็นต้องวินิจฉันแยกโรคโดยการตรวจชิ้นเนื้อ (fine needle aspiration biopsy)

ในที่นี้จะกล่าวเฉพาะคอพอกธรรมดา

*ต่อมไทรอยด์ (thyroid gland) เป็นต่อมไร้ท่อ (ต่อมเอนโดไครน์) ที่ใหญ่ที่สุดในร่างกาย อยู่ที่ลำคอด้านหน้า ต่ำกว่าลูกกระเดือกเล็กน้อย มีรูปร่างเหมือนเกือกม้า ประกอบด้วยปีกซ้ายและปีกขวา เชื่อมต่อกันด้วยส่วนที่เรียกว่าคอคอด (isthmus) ปกติจะมีขนาดใหญ่กว่านิ้วหัวแม่มือเล็กน้อยและมองเห็นไม่ชัดเจน
ต่อมนี้มีหน้าที่สร้างฮอร์โมน เรียกว่า ฮอร์โมนไทรอยด์ (thyroid hormone) หรือไทร็อกซีน (thyroxine) โดยใช้ไอโอดีนจากอาหารที่เรากินเข้าไปเป็นวัตถุดิบ และมีฮอร์โมนจากต่อมใต้สมองที่เรียกว่า ฮอร์โมนกระตุ้นไทรอยด์ (thyroid stimulating hormone/TSH) เป็นตัวควบคุมการทำงานของต่อมไทรอยด์
ฮอร์โมนไทรอยด์มีหน้าที่ควบคุมการเผาผลาญ (เมตาบอลิซึม) ของเซลล์ต่าง ๆ ทั่วร่างกาย และควบคุมการเจริญเติบโตและพัฒนาการของร่างกาย ถ้ามีฮอร์โมนนี้มากเกินไป ร่างกายจะถูกกระตุ้นให้ทำงานมากผิดปกติ เกิดเป็นโรคต่อมไทรอยด์ทำงานเกินหรือคอพอกเป็นพิษ ตรงกันข้าม ถ้ามีฮอร์โมนนี้น้อยเกินไป ร่างกายก็จะเฉื่อยชาเกิดโรคที่เรียกว่า ภาวะขาดไทรอยด์
ถ้าขาดฮอร์โมนนี้มาตั้งแต่เล็ก ๆ จะทำให้เด็กเจริญเติบโตไม่ดี ตัวเตี้ยแคระ ปัญญาอ่อน เรียกว่า สภาพแคระโง่ (cretinism) หรือเด็กเครติน (cretin)

สาเหตุ

คอพอกธรรมดา บางรายอาจเกิดขึ้นโดยไม่ทราบสาเหตุ ที่ทราบสาเหตุ ได้แก่

    ภาวะขาดธาตุไอโอดีน (ซึ่งมีมากในเกลือทะเลและอาหารทะเล) ภาวะนี้จึงพบมากทางภาคเหนือและภาคอีสานในแถบที่ราบสูงหรือใกล้เขตภูเขา ซึ่งขาดแคลนเกลือทะเลและอาหารทะเล เมื่อร่างกายขาดธาตุไอโอดีนก็เกิดการขาดฮอร์โมนไทรอยด์ตามมา ทำให้ต่อมไทรอยด์ถูกฮอร์โมนจากต่อมใต้สมอง (ที่คอยกระตุ้นให้ต่อมไทรอยด์ทำงาน) กระตุ้นจนมีขนาดโตขึ้น กลายเป็นคอพอก

ในหมู่บ้านบางแห่ง อาจมีผู้ที่เป็นคอพอกเกือบทั้งหมดหมู่บ้าน จึงเรียกว่า คอพอกประจำถิ่น (endemic goiter)

โดยทั่วไปมักถือว่า ในชุมชนใดมีผู้ที่เป็นคอพอกจากการขาดธาตุไอโอดีนเกิน 10 คนใน 100 คน ก็บอกได้ว่าชุมชนนั้นมีคอพอกประจำถิ่นเกิดขึ้นแล้ว

    การเปลี่ยนแปลงของร่างกาย ด้านฮอร์โมน และเมตาบอลิซึม มักพบในผู้หญิงที่เริ่มเข้าสู่วัยรุ่น หรือกำลังตั้งครรภ์ ซึ่งร่างกายต้องการฮอร์โมนไทรอยด์ (ไทร็อกซีน) มากขึ้น ต่อมไทรอยด์จึงต้องทำงานมากกว่าธรรมดา ทำให้เกิดเป็นคอพอก เรียกว่า คอพอกสรีระ (physiologic goiter)
    จากผลของยา เช่น พีเอเอส และเอทิโอนาไมด์ (ethionamide) ที่สมัยก่อนเคยใช้รักษาวัณโรค เฟนิลบิวตาโชน ลิเทียม โพรพิลไทโอยูราซิล อะมิโนกลูเททิไมด์ (aminoglutethimide)
    ปุ่มไทรอยด์ (thyroid nodule) อาจเป็นปุ่มเดียวหรือหลายปุ่ม ส่วนใหญ่จะสร้างฮอร์โมนไทรอยด์ได้เป็นปกติ ส่วนน้อยที่สร้างไทรอยด์มากเกิน หรือเป็นคอพอกเป็นพิษ บางรายอาจพบว่าเป็นมะเร็ง
    ถุงน้ำไทรอยด์ (thyroid cyst) มีลักษณะเป็นถุงหุ้มมีน้ำบรรจุอยู่ภายใน ขนาดอาจเล็กกว่า 1 ซม. หรือโตจนแลดูน่าเกลียด บางรายอาจพบว่าเป็นมะเร็ง
    ต่อมไทรอยด์อักเสบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งชนิดเรื้อรังจากภูมิต้านตนเอง (Hashimoto’s thyroiditis) ที่มีระดับฮอร์โมนไทรอยด์อยู่ในเกณฑ์ปกติ (euthyroid) ก็เป็นสาเหตุหนึ่งของคอพอกธรรมดาได้


อาการ

ผู้ป่วยจะมีอาการคอโต (คอพอก) กว่าปกติ โดยไม่มีอาการผิดปกติอื่น ๆ เช่น ไม่อ่อนเพลีย ไม่เหนื่อยง่าย น้ำหนักไม่ลด เป็นต้น แต่ถ้าก้อนโตมาก ๆ อาจทำให้เสียงแหบ กลืนลำบากหรือหายใจลำบากได้


ภาวะแทรกซ้อน

ต่อมไทรอยด์ที่มีขนาดโตมาก ๆ อาจกดหลอดอาหารทำให้กลืนลำบาก ถ้ากดถูกเส้นประสาทกล่องเสียงก็อาจทำให้เสียงแหบได้

ในรายที่มีต่อมไทรอยด์โตขยายลงไปที่หลังกระดูกลิ้นปี่ (substernal goiter) ก็อาจกดหลอดลมทำให้หายใจลำบาก หรือถูกท่อเลือดดำส่วนบน (superior vena cava) ทำให้หน้าแดงคล้ำหน้าบวมได้

ถุงน้ำไทรอยด์ อาจมีเลือดออกในถุงน้ำ ทำให้มีอาการเจ็บปวดและก้อนโตกดอวัยวะข้างใต้ทำให้กลืนลำบาก หรือเสียงแหบ

เด็กที่เกิดจากมารดาที่มีภาวะขาดไอโอดีน อาจเกิดภาวะขาดไทรอยด์ตั้งแต่แรกเกิด ซึ่งมีผลต่อพัฒนาการทางร่างกายและสมอง ทำให้ตัวเตี้ยแคระ หูหนวก เป็นใบ้ และปัญญาอ่อน เรียกว่า สภาพแคระโง่ประจำถิ่น (endemic cretinism) หรือเด็กเครติน (cretin) ซึ่งทางภาคเหนืออันเป็นเขตที่มีความชุกของโรคนี้ นิยมเรียกว่า โรคเอ๋อ (ดูภาวะไทรอยด์เพิ่มเติม)

การวินิจฉัย

แพทย์จะวินิจฉัยจากอาการและการตรวจพบต่อมไทรอยด์โตจนคลำได้ชัดเจน

ถ้าเป็นถุงน้ำจะมีลักษณะนุ่มหรือหยุ่น ๆ

แพทย์จะทำการวินิจฉัยให้แน่ชัดโดยทำการตรวจพิเศษเพิ่มเติม เช่น ตรวจเลือดทดสอบการทำงานของไทรอยด์ (thyroid function test) ได้แก่ ฮอร์โมนไทร็อกซีน และฮอร์โมนกระตุ้นต่อมไทรอยด์ (TSH) ตรวจเลือดหาระดับสารภูมิต้านทานต่อไทรอยด์ ตรวจระดับไอโอดีนในปัสสาวะ สแกนต่อมไทรอยด์ (thyroid scan) อัลตราซาวนด์ต่อมไทรอยด์ ถ่ายภาพด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าหรือเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ ใช้เข็มเจาะ (aspiration) ตรวจเซลล์มะเร็ง ตรวจชิ้นเนื้อ (fine needle aspiration biopsy) เป็นต้น


การรักษาโดยแพทย์

สำหรับคอพอกธรรมดา (ระดับฮอร์โมนไทรอยด์ปกติ) แพทย์จะให้การรักษาตามสาเหตุ ดังนี้

    คอพอกประจำถิ่น (ตรวจพบระดับไอโอดีนในปัสสาวะต่ำ) ให้กินเกลือไอโอดีน (เกลืออนามัย) หรือยาไอโอไดด์ (อาจเป็นชนิดเม็ด หรือชนิดน้ำ เช่น Lugol’s solution) เป็นประจำ

- โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้หญิงที่กำลังตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตร ควรได้รับการรักษาอย่างจริงจังเพื่อป้องกันมิให้ลูกที่เกิดมากลายเป็นเด็กเครติน หรือโรคเอ๋อ
- ถ้าคอโตมาก ๆ หรือมีอาการหายใจหรือกลืนลำบาก อาจต้องรักษาด้วยการผ่าตัด

    คอพอกที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของร่างกาย ซึ่งพบในสาววัยรุ่นและหญิงตั้งครรภ์ โดยทั่วไปคอจะโตไม่มาก หรือแทบสังเกตไม่เห็น ก็ไม่ต้องให้การรักษาแต่อย่างใด จะยุบหายได้เอง เมื่อพ้นระยะวัยรุ่นหรือหลังคลอด

- แต่ถ้าคอโตมาก แพทย์จะให้ฮอร์โมนไทรอยด์ ได้แก่ เลโวไทร็อกซีน (levothyroxine) ซึ่งอาจต้องกินนานเป็นปี ๆ ช่วยให้คอยุบได้
- แต่ถ้าคอโตมาก ๆ อาจต้องรักษาด้วยการผ่าตัด

    ในรายสงสัยว่าเกิดจากยา ควรหยุดยาที่กินหรือเปลี่ยนไปใช้ยาอื่นแทนก็จะช่วยให้คอยุบหายไปได้เอง
    ปุ่มไทรอยด์ ถ้าเป็นหลายปุ่มที่ไม่มีภาวะไทรอยด์ทำงานเกิน หรือปุ่มเดี่ยว แพทย์จะทำการตรวจชิ้นเนื้อ (fine needle aspiration biopsy) ถ้าไม่พบว่าเป็นมะเร็ง ก็จะลองติดตามทุก 1-2 เดือน ถ้าก้อนไม่ยุบจะทำการตรวจชิ้นเนื้อซ้ำทุก 2 เดือนอย่างน้อย 3 ครั้ง

ถ้าก้อนไม่ยุบ แพทย์จะให้ฮอร์โมนไทรอยด์ ได้แก่ เลโวไทร็อกซีน (levothyroxine) นาน 6 เดือน ถ้าก้อนยุบลงจะให้ยานานต่อไปประมาณ 2 ปี ถ้าก้อนไม่ยุบก็จะหยุดยา และอาจต้องทำการผ่าตัดถ้าก้อนโตมากหรือมีอาการเสียงแหบ กลืนลำบากหรือหายใจลำบาก

ยานี้ต้องระวังอย่าใช้เกินขนาด อาจทำให้มีอาการใจสั่น หัวใจเต้นผิดจังหวะเจ็บแน่นหน้าอก อาเจียนท้องเดิน นอนไม่หลับ มือสั่น น้ำหนักลดได้

    ถุงน้ำไทรอยด์ แพทย์จะใช้เข็มเจาะดูดน้ำและนำไปตรวจหาเซลล์มะเร็ง ส่วนน้อยที่อาจพบว่าเป็นมะเร็ง ก็ให้การรักษาแบบมะเร็งไทรอยด์ ส่วนใหญ่จะเป็นถุงน้ำชนิดไม่ร้าย ถ้าก้อนมีขนาดเล็กก็ไม่ต้องทำอะไร ถ้าก้อนขนาดใหญ่จะทำการเจาะดูดน้ำออกแล้วติดตามผลทุก 2-4 สัปดาห์ ถ้าก้อนไม่ยุบอาจเจาะซ้ำหลายครั้ง ถ้าไม่ยุบหรือโตขึ้น ก็อาจต้องรักษาด้วยการผ่าตัด
    ต่อมไทรอยด์อักเสบเรื้อรังจากภูมิต้านตนเอง ในระยะที่มีระดับฮอร์โมนไทรอยด์อยู่ในเกณฑ์ปกติ ควรติดตามตรวจเลือดเป็นระยะ ถ้าหากพบว่ามีภาวะขาดไทรอยด์ตามมาควรให้ฮอร์โมนไทรอยด์ทดแทน (ดูโรคต่อมไทรอยด์อักเสบ)

การดูแลตนเอง

หากสงสัย เช่น มีอาการคอโต (คอพอก) กว่าปกติ หรือคลำได้ปุ่มหรือก้อนของไทรอยด์ ควรปรึกษาแพทย์

เมื่อตรวจพบว่าเป็นคอพอกหรือต่อมไทรอยด์โต ควรดูแลตนเอง ดังนี้

    รักษา กินยา และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ 
    ติดตามรักษากับแพทย์ตามนัด


ควรกลับไปพบแพทย์ก่อนนัด ถ้ามีลักษณะข้อใดข้อหนึ่ง ดังต่อไปนี้

    มีอาการเหนื่อยง่าย ใจสั่น น้ำหนักลด หรือคอโตมากขึ้น
    ขาดยาหรือยาหาย
    กินยาแล้วสงสัยเกิดผลข้างเคียงจากยา เช่น มีลมพิษ ผื่นคัน ตุ่มพุพอง ตาบวม ปากบวม ปวดท้อง ท้องเดิน คลื่นไส้ อาเจียน จุดแดงจ้ำเขียว หรือมีอาการผิดปกติอื่น ๆ


การป้องกัน

1. สำหรับคอพอกประจำถิ่นที่เกิดจากการขาดธาตุไอโอดีน สามารถป้องกันด้วยการกินอาหารทะเลหรือกินเกลือที่ผสมธาตุไอโอดีน (เกลืออนามัย)

2. ในหมู่บ้านที่มีปัญหาคอพอกประจำถิ่น (มีคนที่เป็นคอพอกจากการขาดธาตุไอโอดีนเกิน 10 คนใน 100 คน) ควรมีการรณรงค์ให้ใช้เกลืออนามัยกันทุกครัวเรือน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหญิงที่ตั้งครรภ์ หญิงที่ให้นมบุตร และเด็กเล็ก ๆ เพื่อป้องกันมิให้เด็ก ๆ กลายเป็นเด็กเครติน

ข้อแนะนำ

1. ทุกครั้งที่พบผู้ป่วยคอพอก ควรแยกให้ออกว่าเป็นคอพอกธรรมดา หรือคอพอกเป็นพิษ เพราะการรักษาต่างกัน

โดยทั่วไป คอพอกธรรมดาจะไม่มีอาการผิดปกติของร่างกาย (ยกเว้นคอโต) ส่วนคอพอกเป็นพิษ จะมีอาการแสดงได้หลายอย่าง (ดู "ภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานเกิน/พิษจากไทรอยด์/คอพอกเป็นพิษ”)

2. ผู้ป่วยที่เป็นคอพอกที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของร่างกาย (ที่พบในหญิงตั้งครรภ์หรือหญิงวัยรุ่น) มักจะไม่มีอันตรายร้ายแรงแต่อย่างใด และจะยุบหายได้เอง จึงไม่ต้องกังวลใจ

3. หากคอพอกลักษณะเป็นปุ่มแข็งควรส่งตรวจพิเศษเพิ่มเติม เนื่องเพราะอาจมีสาเหตุจากมะเร็งไทรอยด์ก็ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นปุ่มเดี่ยว

 

หัวข้อที่เกี่ยวข้อง

  หัวข้อ / เริ่มโดย ตอบ กระทู้ล่าสุด
0 ตอบ
661 อ่าน
กระทู้ล่าสุด 29เม.ย.2021, 20:54:42
โดย เสี่ยฟลุ๊ค เกียรติศักดิ์
0 ตอบ
633 อ่าน
กระทู้ล่าสุด 03พ.ค.2021, 08:12:59
โดย เสี่ยฟลุ๊ค เกียรติศักดิ์
0 ตอบ
35 อ่าน
กระทู้ล่าสุด 11ก.ย.2024, 19:22:09
โดย siritidaphon
0 ตอบ
24 อ่าน
กระทู้ล่าสุด 30ก.ย.2024, 22:09:49
โดย siritidaphon
0 ตอบ
14 อ่าน
กระทู้ล่าสุด 11พ.ย.2024, 14:44:41
โดย siritidaphon