ผู้เขียน หัวข้อ: เช็คลิสต์ ‘โรคอุบัติใหม่อุบัติซ้ำ’ หลัง COVID 19 ระบาดหนัก  (อ่าน 27 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ siritidaphon

  • ไมล์ 50-100
  • *
  • กระทู้: 86
  • คะแนน Like 0
  • จังหวัด: กรุงเทพ
  • ชื่อเล่น: aa
เช็คลิสต์ ‘โรคอุบัติใหม่อุบัติซ้ำ’ หลัง COVID 19 ระบาดหนัก

โรคอุบัติใหม่ อุบัติซ้ำ เป็นคำที่เราได้ยินกันมานาน แต่นับตั้งแต่มีโควิด19 จากโรคติดต่ออันตราย สู่โรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง อาจเกิดคำถามว่า ณ ปัจจุบันโรคอุบัติใหม่ อุบัติซ้ำต้องเปลี่ยนไปด้วยหรือไม่...

    “โควิด19 ถือเป็นโรคอุบัติใหม่ในช่วงปี 2019 หรือพ.ศ.2562 ที่ผ่านมา แต่ปัจจุบันกลายเป็นโรคประจำถิ่นไปแล้ว ยกเว้นว่า ในอนาคตหากมีการกลายพันธุ์ จนเกิดความรุนแรงและระบาดใหม่อีกก็จะกลายเป็นโรคอุบัติซ้ำ แต่ความเสี่ยงนี้น่าจะน้อยมาก” คำสัมภาษณ์ช่วงหนึ่งของ นพ.วีรวัฒน์ มโนสุทธิ  นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ กรมควบคุมโรค ในฐานะโฆษกกรมควบคุมโรค

แฟ้มภาพช่วงโควิด-19

เมื่อเร็วๆนี้ ผู้สื่อข่าว Hfocus มีโอกาสได้สัมภาษณ์พิเศษ “นพ.วีรวัฒน์ มโนสุทธิ”  นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ กรมควบคุมโรค ในฐานะโฆษกกรมควบคุมโรค เพื่ออัปเดตสถานการณ์ โรคอุบัติใหม่อุบัติซ้ำในประเทศไทย โดยคำจำกัดความของโรคอุบัติใหม่ โรคที่เพิ่งตรวจเจอหรือวินิจฉัยได้ว่าคืออะไร เช่น โรคโควิด-19  ระบาดในคนเป็นครั้งแรกเมื่อ ค.ศ.2019  นับเป็นโรคอุบัติใหม่ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน เหมือนย้อนกลับไปอย่างโรคเอดส์ เมื่อปี ค.ศ. 1981 เพิ่งพบครั้งแรกเช่นกัน หรือแม้แต่โรคซาร์ส (Severe Acute Respiratory Syndrome: SARS) ที่ระบาดในฮ่องกงเมื่อ ค.ศ. 2002  และโรคเมอร์ส  (MERS Corona Virus : MERS-CoV) ในค.ศ. 2012 ทั้งหมดเป็นตัวอย่างของโรคอุบัติใหม่  โรคอุบัติใหม่ ยังรวมถึงกลุ่มโรคที่เรียกว่า Disease X  หรือโรคที่ไม่เคยมีมาก่อน แต่แพร่ระบาดในวงกว้าง

    “ องค์การอนามัยโลกยังนิยามโรคอุบัติใหม่ ว่าเกิดจากเชื้อตัวใหม่ หรือพบในพื้นที่ที่ไม่เคยมีมาก่อน อย่างเช่นคนละทวีป รวมไปถึงโรคที่เกิดจากการดื้อยาหลายขนาน จนกลายเป็นเชื้อใหม่ก็จะถือเป็นโรคอุบัติใหม่เช่นกัน อย่างวัณโรคดื้อยา  รวมถึงโรคที่มีแนวโน้มใช้เป็นอาวุธชีวภาพ อย่างเชื้อแอนแทรกซ์”

นพ.วีรวัฒน์ อธิบายเพิ่มว่า ส่วนโรคอุบัติซ้ำ เป็นโรคที่เคยพบมาก่อน แต่กลับมาระบาดเป็นช่วงๆ ในบางพื้นที่ เช่น คอตีบไอกรน  ที่เกิดการระบาดในภาคใต้ บางครั้งก็หายไป และบางครั้งก็กลับมาอีกครั้ง อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นโรคอุบัติใหม่หรืออุบัติซ้ำ ยังจำเป็นต้องติดตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งจัดทำแผนเตรียมการรองรับในการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคเพื่อไม่ให้เกิดการแพร่ระบาดในวงกว้างในประเทศ

โรคอุบัติซ้ำที่ยังคงเฝ้าระวัง

อย่างโรคอุบัติซ้ำที่ยังต้องเฝ้าระวัง คือ โรคคอตีบ ไอกรน หากไม่ควบคุมให้ดีก็มีโอกาสระบาดเป็นวงกว้างได้  รวมทั้งไข้ปวดข้อยุงลาย ไข้ซิการ์ หรือแม้แต่ไข้หวัดใหญ่ก็ยังต้องเฝ้าระวัง รวมถึงโรคไข้หวัดนก ช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาพบผู้ป่วยในประเทศเพื่อนบ้าน ดังนั้น ประเทศไทยจำเป็นต้องติดตามสถานการณ์ ประมาทไม่ได้ อย่างโรคอุบัติใหม่ที่พบอีกโรค คือ ฝีดาษวานร เป็นอีกโรคที่กรมควบคุมโรคติดตามสถานการณ์เช่นกัน

โควิดยังเป็นโรคอุบัติใหม่

“ส่วนโควิด19 ถือเป็นโรคอุบัติใหม่ในช่วงปี 2019 หรือพ.ศ.2562 ที่ผ่านมา แต่ปัจจุบันกลายเป็นโรคประจำถิ่นไปแล้ว ยกเว้นว่า ในอนาคตหากมีการกลายพันธุ์ จนเกิดความรุนแรงและระบาดใหม่อีกก็จะกลายเป็นโรคอุบัติซ้ำ แต่ความเสี่ยงนี้น่าจะน้อยมาก” นพ.วีรวัฒน์ กล่าว

โฆษกกรมควบคุมโรค ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า  กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข มีเครือข่ายเฝ้าระวังโรคทั้งในประเทศ และต่างประเทศ องค์การอนามัยโลก และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อย่างการระบาดโควิด เห็นได้ชัดจากระบบบริหารจัดการจากส่วนกลาง ที่มีคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ชื่อนี้จะได้ยินบ่อยมากในช่วงโควิดที่ผ่านมา เพราะมีบทบาทหน้าที่ในการพิจารณา กำหนดนโยบาย แนวทางต่างๆ เกี่ยวกับเรื่องโควิด-19 เช่น การป้องกันโรค การบริหารจัดการความเสี่ยงของโรค รวมถึงวัคซีนป้องกันโควิด  แนวทางนโยบายต่างๆจะออกมาจากคณะกรรมการชุดนี้ เพื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรีพิจารณา

คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ยังมีคณะกรรมการด้านวิชาการโรคต่างๆ  อย่างช่วงโควิดระบาดจะเห็นบทบาทของคณะกรรมการด้านวิชาการโรคโควิดบ่อยมาก เพราะต้องศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับโควิดทั้งหมด และเสนอต่อคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ  ซึ่งช่วงโควิด จะเห็นนโยบายต่างๆออกมา แต่ละพื้นที่ก็จะแตกต่างกัน นั่นเพราะเกิดจากการทำงานของคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด ที่มีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน อย่างคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร มีผู้ว่าราชการ กทม.เป็นประธาน ซึ่งแต่ละจังหวัดจะทำงานเชื่อมโยงกับเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ ของสำนักงานป้องกันควบคุมโรค กรมควบคุมโรคแต่ละจังหวัด โดยทำงานร่วมกับพนักงานกองด่านควบคุมโรค ทั้งด่านทางบก ทางเรือ และทางอากาศ

การทำงานเฝ้าระวัง ควบคุม ป้องกันโรค มีทุกระดับ

“ดังนั้น การทำงานควบคุมป้องกันโรค ก็จะมีตั้งแต่บริหารระดับประเทศ ระดับวิชาการ และลงไปในพื้นที่ ตามกองด่านต่างๆ มีการทำงานถึงกันทั้งหมด ที่สำคัญจะมีการเฝ้าระวังทุกด่านเข้าออก และหากหลุดเข้ามาจากด่านคัดกรองได้จริงๆ ก็ยังมีระบบคัดกรองในสถานพยาบาล รพ.รัฐและเอกชนทั้งหมด เพื่อรายงานโรคต่างๆ และสุดท้ายหากหลุดไปยังชุมชน ยังได้วางระบบเฝ้าระวัง ทั้งอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน(อสม.)  โรงแรมต่างๆ สถานที่ท่องเที่ยว ซึ่งจะคอยเฝ้าระวัง ป้องกัน ควบคุมโรคได้ โดยจะโฟกัส 13 โรคหลักตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 รวมถึงโรคที่อาจมีการประกาศเพิ่มเติม” นพ.วีรวัฒน์ กล่าว
13 โรคเฝ้าระวังตามพ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558

สำหรับ 13 โรคที่มีการเฝ้าระวังตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 คือ   กาฬโรค,  ไข้ทรพิษหรือฝีดาษ,ไข้เลือดออกไครเมียนคองโก, ไข้เวสต์ไนล์, ไข้เหลือง, โรคไข้ลาสซา, โรคติดเชื้อไวรัสนิปาห์, โรคติดเชื้อไวรัสมาร์บวร์ก, โรคติดเชื้อไวรัสอีโบลา, โรคติดเชื้อไวรัสเฮนดรา, โรคทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรง หรือโรคซาร์ส, โรคทางเดินหายใจตะวันออกกลาง หรือโรคเมอร์ส  และวัณโรคดื้อยาหลายขนานชนิดรุนแรงมาก

อย่างไรก็ตาม  นพ.วีรวัฒน์ กล่าวทิ้งท้ายว่า  กรมควบคุมโรคร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งในและนอกกระทรวง มีการเตรียมพร้อมตลอด หากมีการระบาดโรคใดโรคหนึ่ง เรามีการเตรียมความพร้อมทั้งสถานพยาบาล เครื่องมือทางการแพทย์ ยาเวชภัณฑ์ วัคซีน ทั้งหมดเป็นการทำงานร่วมทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ที่สำคัญต้องมีการสื่อสารความเสี่ยงให้กับประชาชนตามช่องทางสื่อสารต่างๆ ให้ได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง และตอบโต้ข่าวปลอมต่างๆ ให้ทันต่อสถานการณ์เพื่อสร้างการรับรู้ที่ถูกต้องให้กับประชาชน  โดยสามารถติดตามข้อมูลได้ผ่านทางเว็บไซต์กรมควบคุมโรค หรือสอบถามผ่านสายด่วน 1422

 

หัวข้อที่เกี่ยวข้อง

  หัวข้อ / เริ่มโดย ตอบ กระทู้ล่าสุด
1 ตอบ
581 อ่าน
กระทู้ล่าสุด 25ม.ค.2023, 15:10:53
โดย Palm_Hot Dale