ผ่านไปแล้ว สำหรับเทศกาลส่งท้ายปีเก่า ต้อนรับปีใหม่ เทศกาลที่คนกรุงเทพฯแห่ขับรถออกท่องเที่ยวในต่างจังหวัด ส่วนคนต่างจังหวัดก็ถือโอกาสนี้ขับรถกลับไปเยี่ยมญาติพี่น้อง รถยิ่งเยอะ อุบัติเหตุยิ่งแยะ
น่าเห็นใจที่หลายหน่วยงานพยายามรณรงค์ป้องกันอุบัติเหตุช่วง 7 วันอันตราย ในเทศกาลปีใหม่ แต่ความพยายามก็ไร้ผล เมื่อมีตัวเลขผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก และเพิ่มขึ้นทุกๆ ปี ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ควรเปลี่ยนเป้าหมายการรณรงค์ให้ตรงกับกลุ่มเป้าหมายให้ชัดเจนมากขึ้น
อย่างปัญหาเรื่องเมาไม่ขับ เรารณรงค์เมาไม่ขับที่ทางหลวงหลัก แต่อุบัติเหตุจากเมาแล้วขับ มักจะเกิดในทางหลวงรอง ถนนในชนบท ที่ตายกันทุกวัน ล้วนแต่เมาแล้วขับขี่มอเตอร์ไซค์กันทั้งนั้น
ดังนั้น การรณรงค์เมาไม่ขับ ควรเจาะลงไปถึงพื้นที่ในชนบท ให้ถึงกลุ่มเป้าหมายโดยตรง
นอกจากนี้ ปัญหาอุบัติเหตุส่วนใหญ่ยังเกิดขึ้นในช่วงที่มีสติสัมปชัญญะ ผู้ขับขี่ที่ไม่กินเหล้า อาจทำให้เกิดอุบัติเหตุร้ายแรงได้ หากนำนิสัยการขับขี่แย่ๆมาใช้อย่างไม่รู้ตัว บางคนนำนิสัยมักง่ายจากต่างจังหวัดมาใช้ในเมืองใหญ่ นำนิสัยเห็นแก่ตัวไปใช้ในต่างจังหวัด
ที่เห็นอยู่บ่อยๆ รถยนต์ทะเบียนกรุงเทพฯ แห่ไปท่องเที่ยวในอุทยานฯหรือยอดดอยทางภาคเหนือ มักติดนิสัยขับรถเร็ว แซงบนทางคับขัน จอดรถซ้อนคัน ไม่มีน้ำใจให้กันและกัน สร้างความเอือมระอาให้กับคนท้องถิ่น
เช่นเดียวกัน นิสัยการขับขี่ของคนต่างจังหวัดก็สร้างความรำคาญให้กับคนกรุงเทพฯ โดยเฉพาะนิสัยขับรถย้อนศร เมื่อก่อนเห็นมอเตอร์ไซค์ขี่ย้อนศร ก็สุ่มเสี่ยงกับอุบัติเหตุมากพอแล้ว แต่เดี๋ยวรถปิกอัพ รถเก๋งก็ขับย้อนศรกับเขาด้วย
จะรณรงค์ลดอุบัติเหตุบนท้องถนน ต้องแก้ที่นิสัย (สันดาน) คน ก่อนครับ !
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 32 ฉบับที่ 2,808 วันที่ 10 - 12 มกราคม พ.ศ. 2556
http://www.thanonline.com/index.php?option=com_content&view=article&id=162731:2013-01-08-06-45-04&catid=134:than-auto-&Itemid=452