ผู้เขียน หัวข้อ: โรคความดันโลหิตสูงและระดับน้ำตาลในเลือดสูงลดได้ ด้วยการงด 4 พฤติกรรมนี้  (อ่าน 15 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ siritidaphon

  • ไมล์ 50-100
  • *
  • กระทู้: 71
  • คะแนน Like 0
  • จังหวัด: กรุงเทพ
  • ชื่อเล่น: aa
โรคความดันโลหิตสูงและระดับน้ำตาลในเลือดสูงลดได้ ด้วยการงด 4 พฤติกรรมนี้

ความดันโลหิตคืออะไร?

ความดันโลหิต คือแรงดันของกระแสเลือดที่กระทบต่อผนังหลอดเลือดแดงที่เกิดจากการสูบฉีดเลือดของหัวใจ ส่วน ‘ความดันโลหิตสูง’  มีสาเหตุมาจากการที่หลอดเลือดแดงเสื่อมสภาพ ซึ่งนำไปสู่ภาวะการแข็งตัวและการตีบตันของหลอดเลือด ภาวะนี้เป็นตัวบ่งชี้ที่สัมพันธ์กับการเกิดโรคต่างๆ เช่น โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง โรคไต และโรคเบาหวาน

เป็น “โรคความดันโลหิตสูง” หรือยัง วัดจากอะไร?

การจะรู้ว่าเป็นโรคความดันโลหิตสูงหรือไม่นั้น ต้องวัดความดันโลหิตด้วยเครื่องวัดความดัน โดยควรวัดความดันหลังจากนั่งพักอย่างน้อย 30 นาที และหลังรับประทานอาหาร ดื่มกาแฟ สูบบุหรี่ หรือออกกำลังกาย 1 ชั่วโมงไปแล้ว ซึ่งค่าความดันที่ได้จะมีอยู่ 2 ค่า คือ

    ค่าความดันตัวบน ที่เกิดจากแรงดันโลหิตขณะหัวใจบีบตัว (ค่าปกติไม่ควรเกิน 120 มิลลิเมตรปรอท)
    ค่าความดันตัวล่าง ที่เกิดจากแรงดันโลหิตขณะหัวใจคลายตัว (ค่าปกติไม่ควรเกิน 80 มิลลิเมตรปรอท)

ซึ่งหากค่าความดันโลหิตตัวบนสูงกว่า 130 ขึ้นไป และ/หรือ ค่าความดันตัวล่างสูงกว่า 80 ขึ้นไป จะถือว่าเป็นโรคความดันโลหิตสูงในระยะแรก

ระดับน้ำตาลในเลือดสูงแค่ไหน จึงเป็นผู้ป่วยเบาหวาน?

ผู้ป่วยเบาหวาน คือผู้ที่มีค่าระดับน้ำตาลในเลือดสูงกว่า 126 Mg/dL (มิลลิกรัม/เดซิลิตร) ทั้งนี้ จะต้องให้แพทย์เป็นผู้วินิจฉัยร่วมกับข้อมูลอื่นๆ เช่น ประวัติสุขภาพและอาการที่พบ สำหรับผู้ป่วยที่แพทย์วินิจฉัยแล้วว่าเป็นโรคเบาหวาน ควรควบคุมระดับน้ำตาลให้ได้ดังนี้

    ระดับน้ำตาลก่อนรับประทานอาหารแต่ละมื้อ ให้อยู่ระหว่าง 80-130 Mg/dL
    ระดับน้ำตาลหลังรับประทานอาหารแล้ว 2 ชั่วโมง ให้น้อยกว่า 180 Mg/dL

การใช้เกณฑ์ตัวเลขดังกล่าวยังต้องพิจารณาให้เหมาะสมกับผู้ป่วยเบาหวานเป็นรายบุคคล โดยคำนึงถึงอายุ ระยะเวลาการเป็นเบาหวาน รวมถึงภาวะแทรกซ้อนและโรคร่วมที่ผู้ป่วยเป็นอยู่ เพื่อการปรับเปลี่ยนอาหาร การออกกำลังกาย และปรับการใช้ยาให้เหมาะสมต่อไป

ลดได้ด้วยการงด 4 พฤติกรรมนี้

1.งดสูบบุหรี่
เพราะการสูบบุหรี่ เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดการอักเสบของหลอดเลือดและนำไปสู่การตีบตันของหลอดเลือด โดยเฉพาะสารนิโคติน (nicotine) ในบุหรี่ จะทำให้หลอดเลือดหดตัว สูญเสียความยืดหยุ่น จนทำให้หัวใจต้องทำงานหนักขึ้นเพื่อสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงอวัยวะต่างๆ ให้เพียงพอ จึงทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้น เพิ่มความเสี่ยงโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ

สำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวาน นิโคตินและสารพิษในควันบุหรี่จะเข้าไปขัดขวางการทำงานของอินซูลิน จึงทำให้ระดับน้ำตาลสูงขึ้น ควบคุมโรคเบาหวานได้แย่ลง

2.งดดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
เพราะการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ จะทำให้ร่างกายผลิตฮอร์โมนแอลโดสเตอโรน (Aldosterone) มากขึ้น ทำให้ร่างกายมีการสะสมน้ำและโซเดียมมากกว่าปกติเป็นประจำ จนในที่สุดก็จะเกิดโรคความดันโลหิตสูงได้

สำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวาน นอกจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จะให้พลังงานสูงแล้ว การดื่มเป็นประจำยังส่งผลให้เกิดภาวะตับอ่อนอักเสบ ทำให้การผลิตเอนไซน์ย่อยอาหารและฮอร์โมนอินซูลินที่ช่วยให้ร่างกายนำน้ำตาลไปใช้ได้ตามปกตินั่นลดประสิทธิภาพลง ระดับน้ำตาลในเลือดจึงสูงขึ้น

ดังนั้น ในผู้ที่มีความดันโลหิตสูง หากจำเป็นต้องดื่มเพื่อเข้าสังคม แต่ละวันผู้หญิงไม่ควรดื่มเกิน 1-2 หน่วย และผู้ชายไม่ควรดื่มเกิน 2-3 หน่วย โดย 1 หน่วยจะเท่ากับ 12 ออนซ์ของเบียร์ที่มีปริมาณแอลกอฮอล์ 5% หรือปริมาณเท่ากับเบียร์กระป๋องเล็ก และ 5 ออนซ์ของไวน์ที่มีปริมาณแอลกอฮอล์ 12% หรือเท่ากับไวน์ครึ่งแก้ว แต่ในผู้ป่วยหวานไม่ควรดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เลย หากจำเป็นต้องดื่ม ไม่ควรดื่มขณะท้องว่าง เพราะอาจทำให้เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำฉับพลันได้

3.งดการนอนดึก
การนอนดึก ถือเป็นภาวะที่ส่งผลเสียต่อร่างกายเป็นอย่างมาก เนื่องจากช่วงเวลาที่อวัยวะต่างๆ ในร่างกายรวมถึงหลอดเลือดจะฟื้นฟูตัวเองได้ดี คือช่วงที่ร่างกายมีการผลิตโกรทฮอร์โมน (Growth Hormone) จากต่อมใต้สมองมากที่สุด ซึ่งจะอยู่ในช่วงเวลา 4 ทุ่มถึงตี 2

การนอนดึกจะทำให้ร่างกายผลิตโกรทฮอร์โมนไม่เพียงพอต่อการซ่อมแซมอวัยวะต่างๆ จนนำมาซึ่งผลเสีย รวมถึงการมีความดันโลหิตที่สูงขึ้น

สำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวาน การนอนดึก นอนน้อย หลับๆ ตื่นๆ หรือนอนหลับไม่สนิท จะทำให้ร่างกายตอบสนองต่อฮอร์โมนอินซูลินได้แย่ลง จึงเสี่ยงต่อการมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้นได้

4.ไม่ปล่อยให้ตนเองตกอยู่ในภาวะเครียดสะสม
เมื่อร่างกายและจิตใจมีความเครียด จะมีการหลั่งฮอร์โมนคอทิซอล (Cortisol) และอะดรีนาลีน (Adrenaline) ที่ทำให้หัวใจเต้นเร็วขึ้น มีการสูบฉีดเลือดที่มากขึ้น ผนังหลอดเลือดหดเกร็งมากกว่าปกติ ซึ่งส่งผลให้ความดันโลหิตสูงขึ้น หากเกิดบ่อยๆ จะส่งผลเสียต่อหลอดเลือดในระยะยาว

สำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวาน เมื่อร่างกายหลั่งฮอร์โมนคอร์ติซอลออกมามาก จะเกิดการกระตุ้นให้ร่างกายปล่อยพลังงานออกมาในรูปของน้ำตาล ดังนั้นยิ่งเครียดมาก ระดับน้ำตาลในเลือดจึงยิ่งสูงมากนั่นเอง

ทั้งนี้ คนส่วนใหญ่มักมีความเครียดสะสมโดยไม่รู้ตัว ไม่ว่าจะเกิดจากการทำงานที่เคร่งเครียด การใช้ชีวิตที่เร่งรีบ หรือปัญหาต่างๆ ที่ต้องแบกรับ ดังนั้น เราจึงควรให้เวลากับตนเองในการทำกิจกรรมที่ชื่นชอบ เช่น ฟังเพลง วาดรูป ทำสมาธิ หรือแม้แต่ออกกำลังกายเบาๆ ในทุกวัน ก็จะช่วยให้ความเครียดที่มีหรือแฝงอยู่นั้นลดลงได้

นอกจากนี้ การสูดดมฝุ่นควันและมลพิษในสิ่งแวดล้อม ยังส่งผลเสียและเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดแดงแข็ง ซึ่งมีความสัมพันธ์กับภาวะความดันโลหิตสูง และระดับน้ำตาลในเลือด ทั้งยังมีผลกระทบโดยตรงกับการผลิตฮอร์โมนอินซูลิน ดังนั้น เราจึงควรหลีกเลี่ยงการอยู่ในสถานที่ที่มีฝุ่นควัน มลพิษจากโรงงานอุตสาหกรรมหรือท้องถนน รวมถึงสวมหน้ากากอนามัยทุกครั้งในวันที่ต้องเผชิญกับฝุ่นขนาดเล็กอย่าง PM2.5