นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เปิดเผยถึงการแก้ไขปัญหาการจราจรในกรุงเทพฯ
ที่พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้นโยบายกระทรวงคมนาคมตำรวจและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องวางแผนแก้ไขปัญหาแบบบูรณาการว่า
ปัญหารถติดในกรุงเทพฯขณะนี้เกิดขึ้นเฉพาะช่วงเร่งด่วนเช้า-เย็นเท่านั้น ไม่ใช่รถติดทั้งวันทั้งคืน อย่างไรก็ตามสนข. ได้วางกรอบการแก้ปัญหาไว้
3 ระยะ คือ 1.ระยะสั้นทำได้ทันที อาทิเข้มงวดผู้ใช้รถใช้ถนนเคารพกฎจราจรมากขึ้น ห้ามจอดรถบนถนน ห้ามฝ่าฝืนสัญญาณจราจร ห้ามเลี้ยวซ้าย
ตำรวจต้องทำกฎหมายให้ศักดิ์สิทธิ์ หรือเพิ่มโทษให้หนักขึ้น เช่น การยึดหรือเพิกถอนใบอนุญาตขับขี่ ต่อกรณีทำผิดในข้อหาหนัก
เพิ่มเติมจากการเสียค่าปรับตามปกติ การรณรงค์ให้ประชาชนเคารพกฎจราจร หากประชาชนมีวินัยจะช่วยแก้ปัญหารถติดได้ถึงครึ่ง
นายชัยวัฒน์ กล่าวต่อว่า 2.ระยะกลาง ใช้เวลา1-2 ปี อาทิ มาตรการจัดการจราจรบนถนนสายหลักตามปริมาณรถ เช่น จัดรีเวิสซิเบิ้ลเลนหรือให้รถสวนกระแส
ยกตัวอย่างถนน 6 ช่องจราจร ช่วงเช้ารถเข้าเมืองมีปริมาณสูงให้ เปิด 4 ช่อง เดินรถสวนช่องขาออกเมือง 1 ช่อง ส่วนขาออกเมืองเปิด 2 ช่อง
ช่วงเย็นรถออกเมืองมีปริมาณสูงให้สลับขาออกเมือง 4 ช่องจราจร ขาเข้าเมือง 2 ช่องจราจร
โดยสนข.จะพิจารณารายละเอียดของถนนที่ต้องปรับการจราจรใหม่ ขณะนี้ดำเนินการบางเส้นทางเท่านั้น อาทิ ถนนคู่ขนานลอยฟ้าบรมราชชนนี
หรือบางจุดในระยะสั้นๆ ที่มีการก่อสร้างโครงการ โดยต้องปรับการจราจรทั้งระบบและต้องหารือตำรวจจราจรถึงความเหมาะสม
เพราะเป็นผู้ปฎิบัติ ต้องติดสัญญาณไฟและป้ายสัญญาณต่างๆ เพื่อความปลอดภัย รวมถึงการเพิ่มช่องบัสเลน(ช่องรถเมล์)
ถนนสายหลักให้มากขึ้นให้รถเมล์ไปได้เร็ว เพื่อส่งเสริมระบบขนส่งมวลชน หากรถส่วนตัวเข้าใช้ช่องบัสเลนต้องถูกจับปรับ
นายชัยวัฒน์ กล่าวต่อว่า 3.ระยะยาว 5-6 ปี รอให้รถไฟฟ้าตามแผนแม่บท10 สายแล้วเสร็จในปี 65 ประชาชนมีทางเลือกในการเดินทางด้วยรถไฟฟ้า
เพื่อใช้มาตรการควบคุมปริมาณรถส่วนตัว โดยอยู่ระหว่างศึกษารูปแบบของมาตรการไว้ 2 วิธี คือ
1.การกำหนดโซนนิ่งเก็บเงินรถเข้าเมือง ในถนนที่มีปริมาณการจราจรหนาแน่น ไม่ให้รถยนต์ส่วนตัวเข้าไปเติม หากจะเข้าต้องเสียเงินในอัตราสูง
มีด่านเก็บเงินคล้ายๆ กับการขึ้นทางด่วน
2.การกำหนดวันใช้รถด้วยเลขทะเบียนรถวันคู่หรือวันคี่ หากตรงกับวันคี่ให้รถยนต์ที่มีเลขทะเบียนวันคี่ใช้ รถเลขคู่ห้ามใช้ ต้องจอดไว้บ้าน ส่วนวันคู่
เลขทะเบียนวันคู่ใช้ได้ เลขทะเบียนวันคี่ต้องจอดอยู่บ้าน ใน1เดือนจะใช้รถได้แค่ 15 วันเท่านั้น จะทำให้รถหายไปจากท้องถนนถึง 50%
พร้อมหาแนวทางลดผลกระทบหรือผ่อนปรนกับประชาชนบางกลุ่มที่จำเป็นต้องใช้รถส่วนตัว อาทิ ผู้ป่วยที่ต้องไปพบแพทย์
รวมทั้งผู้สูงอายุหรือกลุ่มคนพิการ ควบคู่กับการพิจารณามาตรการอื่นๆ ด้วยมาตรการทั้ง3ระยะจะนำเสนอกระทรวงคมนาคมในเร็วๆ นี้
ขอบคุณข้อมูลจาก
http://www.dailynews.co.th/economic/523347 ครับ