emo1ระบบเบรกเป็นสิ่งที่ นักขับไม่ควรมองข้ามเป็นอย่างยิ่งเพราะหมายถึงความปลอดภัยของตัวคุณและ เพื่อนร่วมทาง อีกทั้งยังช่วยลดความเสี่ยงจากเหตุฉุกเฉินที่ต้องเหยียบเบรกกะทันหัน และวันนี้กระปุกคาร์ได้นำเอาความรู้เกี่ยวกับผ้าเบรกมาฝากทุกท่าน เป็นอย่างไรบ้างมาดูกัน
ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับผ้าดิสก์เบรก ชนิดของผ้าดิสก์เบรกที่มีจำหน่ายกันอยู่ในท้องตลาดขณะนี้สามารถแบ่งได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่ ๆ ดังนี้
1. กลุ่มผ้าดิสก์เบรกราคาถูก ที่มีส่วนผสมของสาร Asbestos หรือที่เรียกกันว่า "ผ้าใบ" จะมีแร่ใยหินเป็นส่วนประกอบ คุณสมบัติในการเบรกจะใช้ได้ดี ในความเร็วต่ำ ๆ หรือระยะต้น ๆ แต่เมื่อความเร็วสูงขึ้น ประสิทธิภาพในการเบรกจะลดลงอย่างรวดเร็ว และที่สำคัญ อายุการใช้งานจะสั้น ผ้าดิสก์เบรกหมดเร็ว นอกจากนั้นแร่ใยหินมีผลต่อสุขภาพ ในปัจจุบันจึงมีการใช้น้อยลง
2. กลุ่มที่ไม่มีส่วนผสมของสาร Asbestor หรือกลุ่ม Non-organic แบ่งออกเป็น 2 ชนิด คือ
2.1 ชนิดที่มีส่วนผสมส่วนใหญ่เป็นโลหะ (Semi-metallic) จะเป็นผ้าดิสก์เบรกของผู้ผลิตจากยุโรปหรืออเมริกา เช่น Bendix, Mintex
2.2 ชนิดที่มีส่วนผสมของสารอนินทรีย์อื่น ๆ จะเป็นผ้าดิสก์เบรกของผู้ผลิตจากญี่ปุ่นเช่น Akebono โดยในกลุ่มนี้จะมีราคาที่สูงกว่าผ้าเบรกที่ผสมสาร Asbestos แต่ในเรื่องคุณภาพสัมประสิทธิ์ของความฝืด ความทนทานต่อการสึกหรอ นั้นมีสูงกว่า
ผ้าเบรกรถยนต์
อาการของผ้าเบรกหมดจะสังเกตได้ดังนี้ 1. มีอาการเบรกต่ำ คือ เมื่อเหยียบเบรกแล้วรู้สึกว่าต่ำกว่าปกติ หรือถ้าเป็นเบรกหลัง (ในบางรุ่น) จะรู้สึกว่าต้องดึงเบรกมือสูงกว่าปกติ นั่นแสดงว่าผ้าเบรกสึกหรอมากแล้ว
2. มีไฟเตือนโชว์ (ไฟเบรกมือ) ที่ตัวเรือนไมล์ ติดค้างเป็นสีแดง เกิดจากการสึกหรอของผ้าเบรก ที่จับอยู่กับจานเบรก โดยสึกหรอจนบางลงทำให้น้ำมันเบรกในกระปุกต่ำกว่าขีด MIN หน้าคอลแทคของสวิตช์ไฟในกระปุกน้ำมันไม่ต่อกันไฟจึงโชว์ค้าง
3. มีเสียงดังเหมือนเหล็กสีกัน ขณะเหยียบเบรก นั่นคือผ้าเบรกได้บางจนถึงตัวเตือนแล้ว (ผ้าเบรกฝั่งที่อยู่ติดกับลูกสูบเบรกจะมีแผ่นเหล็กทำหน้าที่เป็นตัวเตือน) ซึ่งถ้าผ้าเบรกบางน้อยกว่า 1.6 มิลลิเมตร แผ่นเหล็กตัวเตือนนี้จึงจะสีกับจานเบรก ทำให้ต้องรีบเปลี่ยนผ้าเบรกทันที
จากที่กูรูหลาย ๆ ท่านแนะนำการตรวจเช็กผ้าเบรกคือทุก ๆ 3 เดือนหรือระยะทาง 5,000 กม. ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับตรวจแปรหลาย ๆ อย่าง สำหรับระบบดิสก์เบรกนั้นผ้าเบรกจะหมดเร็วกว่าระบบดรัมเบรกประมาณ 2 เท่าหรือว่ากันง่าย ๆ คือเปลี่ยนผ้าดิสก์เบรก 2 ครั้ง จึงเปลี่ยนผ้าดรัมเบรก 1 ครั้ง ในบางรายอาจต้องเจียรจานเบรกเพิ่มขึ้นอีกด้วยหากช่างตรวจพบว่าตัวจานเบรก สึกเป็นร่อง เพื่อป้องกันอาการเสียงดังขณะเบรกตามมา
สิ่ง ที่ควรปฏิบัติหลังจากเปลี่ยนผ้าเบรกแล้ว ไม่ควรขับรถยนต์ด้วยความเร็วสูง หรือขับตามคันหน้าอย่างกระชั้นชิด เพราะการเบรกไม่ดีเท่าที่ควร หรืออาจไม่ค่อยอยู่เนื่องจากผ้าเบรกต้องมีการปรับหน้าสัมผัสให้เข้ากับจาน เบรกสักระยะหนึ่งก่อน ควรใช้เบรกปกติ ไม่เบรกอย่างรุนแรง เพื่อให้เนื้อผ้าเบรกได้ปรับตัวได้อย่างช้า ๆ ผ้าเบรกจึงจะมีประสิทธิภาพสูงสุดตลอดอายุการใช้งาน และลดปัญหาเรื่องเสียงดังอีกด้วย ทั้งหมดนี้อาจจะดูยุ่งยากเสียหน่อยแต่คุ้มค่ากับความปลอดภัยแน่นอนครับ
ขับขี่ปลอดภัยทุกคนนะครับน้าๆเครดิตโดยกระปุกดอทคอม