พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ. 2522 (ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม)
ลักษณะ 3
การใช้ทางเดินรถ
หมวด 1
การขับรถ
มาตรา 33 ในการขับรถ ผู้ขับขี่ต้องขับรถในทางเดินรถด้านซ้าย และต้องไม่ล้ำกึ่งกลางของทางเดินรถ เว้นแต่ในกรณีต่อไปนี้ ให้เดินทางขวาหรือล้ำกึ่งกลางของทางเดินรถได้
(1) ด้านซ้ายของทางเดินรถมีสิ่งกีดขวางหรือถูกปิดการจราจร
(2) ทางเดินรถนั้นเจ้าพนักงานจราจรกำหนดให้เป็นทางเดินรถทางเดียว
(3) ทางเดินรถนั้นกว้างไม่ถึงหกเมตร
มาตรา 34 ในการใช้ทางเดินรถที่ได้จัดแบ่งช่องเดินรถในทิศทางเดียวกันไว้ตั้งแต่สองช่องขึ้นไป หรือที่ได้จัดช่องเดินรถประจำทางไว้ในช่องเดินรถซ้ายสุด ผู้ขับขี่ต้องขับรถในช่องซ้ายสุดหรือใกล้กับช่องเดินรถประจำทาง เว้นแต่ในกรณีต่อไปนี้ ให้เดินทางขวาของทางเดินรถได้
(1) ในช่องเดินรถนั้นมีสิ่งกีดขวางหรือถูกปิดการจราจร
(2) ทางเดินรถนั้นเจ้าพนักงานจราจรกำหนดให้เป็นทางเดินรถทางเดียว
(3) จะต้องเข้าช่องทางให้ถูกต้องเมื่อเข้าบริเวณใกล้ทางร่วมทางแยก
(4) เมื่อจะแซงขึ้นหน้ารถคันอื่น
(5) เมื่อผู้ขับขี่ขับรถด้วยความเร็วสูงกว่ารถในช่องเดินรถด้านซ้าย
อัตราค่าปรับ พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ. 2552 (ทั้งนี้เป็นไปตาม ม.33 และ ม.34)
ข้อกล่าวหา ขับรถไม่ชิดขอบทางด้านซ้าย อัตราเปรียบเทียบเบี้ยปรับ 200 บาท
ข้อกล่าวหา ขับรถในลักษณะกีดขวางการจราจร อัตราเปรียบเทียบเบี้ยปรับ 400 บาท
ข้อกล่าวหา เดินรถผิดช่องทางเดินรถ อัตราเปรียบเทียบเบี้ยปรับ 400 บาท
*หมายเหตุ มาตรา นี้ได้มีการเพิ่มเติม(5)เข้าไปโดย พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติม ข้อความใหม่เข้าไปโดย พ.ร.บ. แก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติจราจรทางบก (ฉบับที่ 4)พ.ศ.2535 ใน มาตรา 6 ซึ่งได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 109 ตอนที่ 39 หน้า 44 วันที่ 6 เมษายน พ.ศ.2535
มาตรา 35 รถ ที่มีความเร็วช้าหรือรถที่มีความเร็วต่ำกว่าความเร็วของ รถคันอื่นที่ขับในทิศทางเดียวกัน ผู้ขับขี่ต้องขับรถให้ใกล้ขอบทางเดินรถ ด้านซ้ายเท่าที่จะกระทำได้
ผู้ขับขี่รถบรรทุก รถบรรทุกคนโดยสาร รถจักรยานยนต์ในทางเดินรถ ซึ่งได้แบ่งช่องเดินรถในทิศทางเดียวกันไว้ตั้งแต่สองช่องขึ้นไป หรือได้จัดช่อง ทางเดินรถประจำทางด้านซ้ายไว้โดยเฉพาะ ต้องขับรถในช่องเดินรถด้าน ซ้ายสุดหรือใกล้เคียงกับช่องเดินรถประจำทางแล้วแต่กรณี
ความในวรรคสองมิให้ใช้บังคับแก่รถยนต์บรรทุกส่วนบุคคล ที่มีน้ำหนักไม่ เกินหนึ่งพันหกร้อยกิโลกรัม และรถยนต์นั่งส่วนบุคคลเกินเจ็ดคน ตามกฎหมาย ว่าด้วยรถยนต์