ขณะที่อุตสาหกรรมส่งออกของไทยกำลังประสบปัญหาวิกฤตยุโรปกำลังหายใจพะงาบๆ อเมริกายังไม่ตื่นจากภวังค์ จีนก็เริ่มจะเดินเซๆ หลายๆ ธุรกิจต้องปรับกลยุทธ์หาตลาดใหม่และหันมาพึ่งตลาดในประเทศกันเป็นแถว ตรงกันข้ามกับ ′อุตสาหกรรมรถยนต์′ ที่สวนทางชาวบ้าน เมื่อยอดขายรถครึ่งปีแรกกว่า 6 แสนคันทั้งปีคาดว่าจะสูง 1.2 ล้านคัน เพิ่มขึ้นกว่า 50% สูงสุดในรอบ 50 ปี
ยุคนี้จึงเป็นยุคทองของ ′ดีทรอยออฟเอเชีย′ อย่างแท้จริง
แต่ที่ตัวเลขการบริโภคในประเทศสูงลิ่วเป็นประวัติการณ์ ถึงขั้น ′ป้ายแดง′ ขาดตลาดผลิตไม่ทัน สาเหตุที่รถขายดีเป็นเทน้ำเทท่าก็ด้วยเนื้อนาบุญ ′นโยบายรถยนต์คันแรก′ ของรัฐบาลสวมวิญญาณ ′ซานตาคลอส′ ยอมเฉือนรายได้จากภาษีสรรพสามิต 3 หมื่นล้านบาท แจกของขวัญให้ผู้ซื้อรถและบริษัทรถยนต์
คนที่ได้ประโยชน์ก็หนีไม่พ้นบริษัทรถยนต์ที่รับไปเต็มๆ
ขณะที่ผู้บริโภคต้องยอม ′เป็นหนี้′ ด้านหนึ่งเพราะได้รับยกเว้นภาษีคันละ 1 แสน แต่อีกด้านมันสะท้อนถึงปัญหาระบบการขนส่งมวลชนบ้านเราที่ไม่ตอบสนองผู้บริโภค จะนั่งรถเมล์ก็ไม่ปลอดภัยไม่รู้จะโดนลูกหลงตอนไหน อีกทั้งสกปรก ขาดมาตรฐาน รถไฟฟ้าก็มีไม่เพียงพอ ไม่สะดวกสบาย
ลองๆ นึกภาพดูรถใหม่จำนวนกว่าล้านคันทยอยมาเพ่นพ่านบนถนน ปัญหาจราจรจะหนักหนาสาหัสแค่ไหน
แทนที่รัฐบาลจะเร่ง ′การสร้างโครงข่ายระบบขนส่ง มวลชน′ ให้เพียงพอรวดเร็วทันเวลา กลับส่งเสริมให้คน ′เป็นหนี้′ ส่งเสริมให้ ′ซื้อรถ′ ประเทศชาติต้องสูญเสียเงินตราต่างประเทศในการนำเข้าน้ำมันมากขึ้นมหาศาล ขณะที่ดุลบัญชีเดินสะพัดเริ่มขาดดุลครั้งแรกในรอบ 15 ปี
อย่าลืมสัญญาณวิกฤตต้มยำกุ้ง ก็สะท้อนจากการขาดดุลบัญชีเดินสะพัด
แม้จะอ้างตัวเลขส่งออกที่เพิ่มสูงขึ้น ก็ไม่ได้ชดเชยสิ่งที่ สูญเสียไปเพราะรายได้จากการส่งออกจะเหลือตกถึงประเทศเราบ้างก็มีแค่ ′ค่าแรงงาน′ ซึ่งไม่ได้มากมายอะไร เพราะรถยนต์เป็นอุตสาหกรรมไฮเทค ใช้แรงงานน้อย ส่วนใหญ่ใช้เทคโนโลยี นอกจากนี้ก็จะได้จากภาษีนิติบุคคล
สำหรับเอสเอ็มอีที่ผลิตอะไหล่ป้อนให้ส่วนใหญ่ก็เป็นบริษัทลูกที่ย้ายตามมาจากญี่ปุ่น บริษัทคนไทยจริงๆ มีน้อย
เมื่อนำสิ่งที่เราได้กับที่เราเสียมาหักกลบลบกันไม่รู้ว่า งานนี้เราควรดีใจหรือเสียใจดี